“บล.กสิกรไทย”คาดSETไตรมาส 2 ฟื้น! มอง “โควิด-19” คลี่คลาย-เก็ง กนง.หั่นดอกเบี้ยอีก 0.25%
"บล.กสิกรไทย"คาดSETไตรมาส 2 ฟื้น! มอง “โควิด-19” คลี่คลาย-เก็ง กนง.หั่นดอกเบี้ยอีก 0.25%
นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย เปิดเผยในงาน “KS TALK ไวรัส VS ลงทุน ฝ่าวิกฤตโคโรนา ปรับกระบวนท่าการลงทุน” ภายใต้หัวข้อ “โคโรนา ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุน” ว่า จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศจีนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทางบล.กสิกรไทย ได้มีการสำรวจตัวเลขผู้ที่อยู่ในช่วงสังเกตุอาการพบว่ามีจำนวนลดลงจากวันที่ 7 ก.พ.63 อยู่ที่ 190,000 ราย มาอยู่ที่ 141,552 รายในปัจจุบัน จากความสามารถในการตรวจดีขึ้น ทำให้คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวในจีนน่าจะปรับตัวดีขึ้นภายใน 20 วัน นับจากนี้ หรือน่าจะไม่เกินต้นเดือนมี.ค.63 ซึ่งบริษัทฯ หลายบริษัทในจีนก็เริ่มกลับมาเปิดทำการเป็นปกติแล้วตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังหยุดยาว โดยมองหุ้นที่น่าสนใจในการกลับมาลงทุนอีกครั้ง คือ บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC)
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้นตามคาด และมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ หลังผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 63 คาดว่าจะเห็นการเริ่มใช้ในเดือนมี.ค.63 น่าจะส่งผลทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (yield curve ) ปรับตัวสูงขึ้น จากปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.2% หลังที่ผ่านมาไม่มีการออกพันธบัตรชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจะเป็นการออกเพื่อรีไฟแนนซ์เป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจากนี้จะมีการเร่งออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อชดเชยขาดดุลฯ มูลค่ารวม 469,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 3/63 และจะเห็นการออกพันธบัตรรัฐบาลมากที่สุดในไตรมาส 4/63 มองกลุ่มที่ได้ประโยชน์จาก yield curve ที่ชันตัวขึ้น ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และประกันชีวิต และกลุ่มที่เสียประโยชน์ ได้แก่ ไฟฟ้า, โรงไฟฟ้า, กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ :TFFIF), กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) รวมถึงกองทุนพร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์
นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในครั้งต่อปี คาดว่าจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% จากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวลดลง โดยในเดือนก.พ.63 ลดลงกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และน่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมี.ค.63 แต่น่าจะกลับมาดีขึ้นได้ในช่วงเดือนเม.ย.63 อีกทั้งยังได้รับผลกระทบเชิงระบบจาก COVID-19 และการล่าช้าของงบประมาณปี 63 รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้ง
ขณะเดียวกันบล.กสิกรไทย ก็ได้มีการปรับเป้าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้ลงเหลือโต 2% จากเดิมที่คาดโต 2.8% จาก GDP ไตรมาส 1/63 คาดจะติดลบ 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกทั้งปีคาดติดลบ 1.7% โดยเป็นการติดลบด้านบริการ 5% และสินค้า 1%
“เราคาดว่าในการประชุม กนง. ครั้งต่อไป จะเห็นการลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% เหลือ 0.75% ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะลดอย่างยิ่ง จากภาพของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง จาก COVID-19 ที่มีผลกระทบเชิงระบบ แต่หากสถานการณ์ต่างๆ ยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะ COVID-19 รากยาวออกไป ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นดอกเบี้ยนโยบายติดลบ”
สำหรับค่าเงินบาทปีนี้ คาดอยู่ที่ 30.50 บาท/ดอลลาร์ จากปัจจุบันเคลื่อนไหวอยู่ที่ 31.00-31.50 บาท/ดอลลาร์ จากผลกระทบ COVID-19 ที่มีผลต่อการท่องเที่ยว ซึ่งมองว่าภายหลังจากสถานการณ์ดีขึ้น ค่าเงินบาทน่าจะกลับมาแข็งค่า
ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทย บล.กสิกรไทย ยังคงเป้าดัชนีปีนี้ไว้ที่ 1,700-1,750 จุด โดยระยะสั้น 1 เดือนนี้ คาดเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,520-1,570 จุด และหากสถานการณ์ COVID-19 กลับบมาดีขึ้น, การขยายตัวทางเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/63 เป็นต้นไป น่าจะทำให้ดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,570-1,614 จุด
ขณะเดียวกัน COVID-19 ก็น่าจะช่วยสนับสนุนการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยมองไตรมาส 2/63 โอกาสที่จะมีการรอมชอมในเรื่องดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูง ในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในระดับกลางๆ คงจะเกิดการร่วมมือกันกับจีนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ขณะที่ EPS Growth ปีนี้คาดว่ามีโอกาสปรับลงได้อีกจากเดิมคาดการณ์อยู่ที่ 97 บาท เนื่องจากตัวเลขนักท่องเที่ยวในไตรมาส 1/63 ลดลง ขณะเดียวกันบมจ.การท่าอากาศยานไทย (AOT) ก็ได้มีการประเมินจำนวนผู้โดยสารในปีงบประมาณ 63 (เดือนต.ค.62-ก.ย.63) คาดว่าในกรณีที่ดีที่สุดจะติดลบราว 8-10% และน่าจะเห็นการฟื้นตัวของจำนวนผู้โดยสารดีขึ้นในเดือนเม.ย.นี้ จากมาตรการช่วยเหลือ และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาล เช่น การฟรีวีซ่าจีน อินเดีย โดยประเด็นที่ต้องติดตาม คือ การประชุมบอร์ด AOT ในวันที่ 19 ก.พ.63 ที่จะมีการหารือเพื่อเยียวยาผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สายการบิน (Non Arrow) หรือ ร้านค้าภายในสนามบิน
อย่างไรก็ตาม แนะนักลงทุนให้มองข้ามกลุ่มท่องเที่ยวไปก่อน โดยให้หันมาลงทุนในหุ้นกลุ่ม restocking play และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือหุ้นที่มีต้นทุนทางการเงินเป็นดอกเบี้ย อย่าง กลุ่มไฟแนนซ์, กลุ่มบริหารหนี้ เช่น BAM, CHAYO, โรงไฟฟ้า และ Infrastructure fund รวมถึงหุ้น Small cap อย่าง KCE ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้ประโยชน์จาก COVID-19, หุ้นที่ได้ประโยชน์จาก IMO อย่าง DCC, BGC จากต้นทุนค่าก๊าซที่ลดลง และกลุ่ม upstream play อย่าง PTTEP, TOP, หุ้นกลุ่มรนับเหมาก่อสร้าง จากการผ่านร่างงบประมาณปี 63 อย่าง STEC และ หุ้น Growth story อย่าง RBF คาดว่าผลประกอบการจะเติบโตได้ 20%
ด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังผ่านร่างงบประมาณปี 63 แล้ว เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะเร่งการเบิกจ่ายอย่างเต็มที่ ทั้งมาตรการการเงินและการคลัง โดยควรจะเน้นไปที่เรื่องของเงินด่วน อย่าง ชิมช้อปใช้, การท่องเที่ยว, ถนนไร้ฝุ่น, กองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้เงินเข้าถึงมือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว