วาเลนไทน์เศร้าเรือใบสีฟ้า
วันที่ 14 ก.พ. 63 ที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างร่วมกันฉลองวันแห่งความรัก แต่วันเดียวกันกลับกลายเป็น Sad Valentine's Day สำหรับเหล่าพลพรรค “เรือใบสีฟ้า” เมื่อสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ประกาศแบนทีมฟุตบอล “สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้” แชมป์เก่าแห่งศึกพรีเมียร์ลีก จากการแข่งขันที่จัดขึ้นโดยยูฟ่า ทุกรายการเป็นเวลา 2 ปี และถูกปรับเป็นเงิน 24.9 ล้านปอนด์
พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง
วันที่ 14 ก.พ. 63 ที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างร่วมกันฉลองวันแห่งความรัก แต่วันเดียวกันกลับกลายเป็น Sad Valentine’s Day สำหรับเหล่าพลพรรค “เรือใบสีฟ้า” เมื่อสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ประกาศแบนทีมฟุตบอล “สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้” แชมป์เก่าแห่งศึกพรีเมียร์ลีก จากการแข่งขันที่จัดขึ้นโดยยูฟ่า ทุกรายการเป็นเวลา 2 ปี และถูกปรับเป็นเงิน 24.9 ล้านปอนด์
เนื่องจากสโมสรละเมิดข้อบังคับอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับกฎ Financial Fair Play โดยคณะกรรมการควบคุมด้านการ เงิน The Club Financial Control Body (CFCB) ทำการตรวจสอบ พบว่า ทีมเรือใบสีฟ้า มีการละเมิดข้อบังคับขั้นรุนแรง ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระเบียบของยูฟ่า และ กฎเกณฑ์ดังกล่าว
รายงานของยูฟ่า ระบุว่า สโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้ มีการลงข้อมูลบัญชีอันเป็นเท็จเกี่ยวกับรายได้จากสปอนเซอร์ ตั้งแต่ปี 2012-2016 โดยสโมสรออกมาชี้แจงและแสดงท่าทีทำนองที่ว่า รู้สึกผิดหวัง แต่ก็ไม่แปลกใจแต่อย่างใด และจะดำเนินการยื่นเรื่องขออุทธรณ์ต่อ อนุญาโตตุลาการศาลกีฬาต่อไป
สำหรับบทลงโทษดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ทันทีในฤดูกาลหน้า นั่นหมายถึงแม้ว่า สโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้ จะติดอันดับท็อป 4 ในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ แต่ไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันรายการยูฟ่าแชมเปี้ยนลีกได้ โดยสิทธิ์เข้าเล่นรายการนี้จะตกเป็นของทีมอันดับ 5 ในตารางคะแนนพรีเมียร์ลีกทันที
กฎว่าด้วย Financial Fair Play ถูกนำมาใช้ครั้งแรก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 มีจุดประสงค์เพื่อให้สโมสรฟุตบอลในยุโรป สามารถบริหารรายรับ-รายจ่ายอย่างมั่นคง กฎนี้บังคับให้แต่ละสโมสร ต้องมีรายรับมากกว่าค่าใช้จ่ายทางการบริหารสโมสร อาทิ ค่าขายตั๋ว เงินที่ได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขัน รายได้จากผู้สนับสนุน เงินรางวัล และการซื้อขายนักเตะ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีมีข้อยกเว้นว่า สโมสรสามารถใช้เงินเกินรายรับได้ประมาณ 5 ล้านยูโร หรือประมาณ 3.9 ล้านปอนด์ แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มต้นใช้กฎได้มีข้อยกเว้นสำหรับรายการขาดทุนแต่ละปี
โดยตั้งแต่ปี 2014-2015 แต่ละทีมจะสามารถขาดทุนได้ไม่เกิน 45 ล้านยูโรต่อปี และระหว่างปี 2015-2018 แต่ละทีมจะขาดทุนได้ไม่เกิน 30 ล้านยูโร โดยจำนวนเงินที่ขาดทุนนั้น เจ้าของสโมสรต้องสามารถชดเชยจำนวนเงินดังกล่าวได้
ที่ผ่านมามีทั้งหมด 9 สโมสรที่เคยละเมิดข้อบังคับของกฎ FFP มาแล้ว โดยเฉพาะสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เคยถูกปรับเงินจำนวน 49 ล้านปอนด์ และถูกกำหนดจำนวนเงินในการซื้อขายนักเตะ รวมถึงสามารถส่งชื่อนักเตะเข้าร่วมแข่งขันได้เพียง 21 คนเท่านั้นในฤดูกาล 2014-2015
เช่นเดียวกับ “สโมสรปารีส แซงต์-แชร์กแมง” เคยได้รับบทลงโทษที่คล้ายกับแมนเชสเตอร์ซิตี้ เนื่องจากไม่ผ่านการ ตรวจสอบของ FFP โดย CFCB มองว่า งบประมาณสนับสนุนจำนวน 167 ล้านปอนด์ จาก Qatar Tourism Authority ที่ช่วยให้สโมสรปลดล็อกภาระหนี้ได้สำเร็จ เป็นมูลค่าการสนับสนุนที่เกินจริง..!?
แม้ว่า Financial Fair Play จะกรีดหัวใจพลพรรคเรือสีฟ้าที่มีอยู่ทั่วโลก แต่ “กฎก็คือกฎ” มองในเชิงสร้างสรรค์นี่คือบทเรียนสำคัญ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับวงการอื่น ๆ ที่ไม่เพียงสโมสรฟุตบอลในยุโรปเท่านั้น
แต่มันอยู่ที่ว่าพร้อม Fair Play ด้วยกันหรือไม่..เท่านั้นเอง..!??