สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 19 ก.พ. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 19 ก.พ. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (19 ก.พ.) ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดทำนิวไฮ โดยได้แรงหนุนจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า จีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 โดยมาตรการดังกล่าวอาจรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Loan Prime Rate (LPR) ในวันนี้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยหนุนจากรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิด 29,348.03 จุด เพิ่มขึ้น 115.84 จุด หรือ +0.40% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,386.15 จุด เพิ่มขึ้น 15.86 จุด หรือ +0.47% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,817.18 จุด เพิ่มขึ้น 84.44 จุด หรือ +0.87%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (19 ก.พ.) โดยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ เนื่องจากนักลงทุนขานรับรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)  ที่ลดลง และมีความหวังว่าจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งได้ช่วยหนุนตลาดให้ฟื้นตัวขึ้นหลังร่วงลงจากความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบด้านห่วงโซ่อุปทานและอุปสงค์ทั่วโลกที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว

ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 0.83% ปิดที่ 433.90 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,111.24 จุด เพิ่มขึ้น 54.42 จุด หรือ +0.90%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 13,789.00 จุด เพิ่มขึ้น 107.81 จุด หรือ +0.79% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,457.02 จุด เพิ่มขึ้น 75.01 จุด หรือ +1.02%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (19 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับข้อมูลที่บ่งชี้ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 รายใหม่ ลดลงเป็นวันที่ 2 ติดต่อกันแล้วในจีน และนักลงทุนยังมีความหวังว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงในวันพฤหัสบดีนี้ เพื่อช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,457.02 จุด เพิ่มขึ้น 75.01 จุด หรือ +1.02%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ (19 ก.พ.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวในจีนเริ่มชะลอตัวลง นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังพุ่งขึ้นรับข่าวสหรัฐออกมาตรการสกัดการส่งออกน้ำมันของเวเนซุเอลา

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 1.24 ดอลลาร์ หรือ 2.4% ปิดที่ 53.29 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 1.37 ดอลลาร์ หรือ 2.4% ปิดที่ 59.12 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 5 เมื่อคืนนี้ (19 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเดินหน้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยในช่วงเวลาที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตารายงานการประชุมเดือนม.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อประเมินมุมมองของเฟดที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ โดยตลาดทองคำนิวยอร์กปิดทำการซื้อขายก่อนที่คณะกรรมการเฟดจะเปิดเผยรายงานการประชุมดังกล่าว

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 8.2 ดอลลาร์ หรือ 0.51% ปิดที่ 1,611.8  ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 2556

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 16.1 เซนต์ หรือ 0.89% ปิดที่ 18.311 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 10.6 ดอลลาร์ หรือ 1.07% ปิดที่ 1,004.5 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. พุ่งขึ้น 73.60 ดอลลาร์ หรือประมาณ 3% ปิดที่ 2,571.20 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (19 ก.พ.) ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนม.ค.ที่พุ่งขึ้นแข็งแกร่งสุดในรอบกว่า 1 ปี นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้ปัจจัยหนุนจากรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งบ่งชี้ถึงมุมมองบวกที่คณะกรรมการเฟดมีต่อภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ

ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 111.57 เยน จากระดับ 109.87 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9843 ฟรังก์ จากระดับ 0.9828 ฟรังก์ แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3226 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3252 ดอลลาร์แคนาดา

เงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2918 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2999 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.0796 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0792 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6673 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6685 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button