ADVANC และ Economy of speed

ก่อนหน้าการประมูลคลื่น 5G ของกสทช.จะรู้ผล นักวิเคราะห์เกือบทุกสำนักให้ราคาเป้าหมายราคาหุ้นบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ไว้ที่ไม่เกิน 220 บาท แต่เมื่อทราบผลลัพธ์ และทางบริษัทชำระเงินค่าคลื่นความถี่งวดแรก จำนวน 2,093,027,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ไปแล้ว นักวิเคราะห์แม้กระทั่งสำนักที่ระวังมากที่สุด ปรับราคาทันทีขึ้นไปเหนือ 250 บาทกันทั่วหน้า


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

ก่อนหน้าการประมูลคลื่น 5G ของกสทช.จะรู้ผล นักวิเคราะห์เกือบทุกสำนักให้ราคาเป้าหมายราคาหุ้นบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ไว้ที่ไม่เกิน 220 บาท แต่เมื่อทราบผลลัพธ์ และทางบริษัทชำระเงินค่าคลื่นความถี่งวดแรก จำนวน 2,093,027,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ไปแล้ว นักวิเคราะห์แม้กระทั่งสำนักที่ระวังมากที่สุด ปรับราคาทันทีขึ้นไปเหนือ 250 บาทกันทั่วหน้า

ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทจัดอันดับเครดิตอย่างบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังทำตัวเป็นเสือปืนไวออกเอกสารมาให้อันดับเครดิตตราสารการเงินของ ADVANC ที่ BBB+/AA+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และยืนยันว่า ADVANC น่าจะมีความสามารถในการรองรับการลงทุนในคลื่นความถี่ และค่าก่อสร้างโครงข่าย 5G โดยไม่กระทบอันดับเครดิตปัจจุบัน   หลังจากที่ชนะการประมูลคลื่นความถี่จำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ประมูลรายอื่น ในการประมูลคลื่นความถี่ 5G ที่จัดขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งประกอบด้วยคลื่นความถี่ 700MHz จำนวน2x5MHz, คลื่น 2.6GHz จำนวน 100MHz และคลื่น 26GHz จำนวน 1200MHz

ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-adjusted net leverage) ของ AIS จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 เท่า ในปี 2563 และ 1.5 เท่า ในปี 2564 จาก 1.4 เท่า ในปี 2562 บนสมมุติฐานที่ว่าบริษัทจะชำระเงินค่าคลื่นความถี่จำนวน 4.2 หมื่นล้านบาท โดยใช้การกู้ยืมทั้งหมดแล้ว อัตราส่วนหนี้สินยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับ 2 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตได้หากอัตราส่วนหนี้สินสูงกว่าระดับดังกล่าว นอกจากนี้การชำระเงินค่าคลื่นความถี่ซึ่งสามารถทยอยชำระเป็นงวด ๆ ภายใน 10 ปี น่าจะช่วยลดผลกระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัทในระยะสั้น

การประมูลมีการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งทำให้ราคาคลื่นความถี่ 700MHz เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 0.8 เหรียญสหรัฐ ต่อ MHz ต่อประชากร แต่การแข่งขันในการประมูลคลื่น 5G ย่านความถี่กลาง และย่านความถี่สูง ที่ไม่สูงมากนัก เป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการมีความระมัดระวังในการลงทุน เนื่องจากการให้บริการระบบ 5G ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและจำนวนอุปกรณ์ที่ใช้กับเครือข่ายยังไม่แพร่หลาย

ถึงแม้ว่า ผู้ประกอบการโทรคมนาคมของรัฐ ซึ่งได้แก่ บมจ. กสท โทรคมนาคม (กสท) และ บมจ. ทีโอที (ทีโอที) ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 700MHz จำนวน 2x10MHz และคลื่น 26GHz จำนวน 400MHz ตามลำดับ ฟิทช์ไม่คิดว่าบริษัททั้งสองจะเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ให้บริการแก่รายย่อยในวงกว้าง รายที่ 4 และ 5 เนื่องจากบริษัททั้งสองมิได้มีประสบการณ์ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่รายย่อย บริษัททั้งสองน่าจะมุ่งเน้นในการให้บริการโครงข่าย 5G แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เอกชนมากกว่า

แรงเชียร์ดังกล่าวเกินเหตุหรือไม่ และราคาซื้อที่เหมาะสมของหุ้น ADVANC ควรเป็นที่เท่าใด คือประเด็นของนักลงทุนยามนี้

ก่อนจะหาคำตอบ ฝ่ายบริหารของ ADVANC ดูเหมือนจะไม่รอให้เกิดภาวะ ส้มหล่น แต่ดำเนินการ ตีเหล็กเมื่อร้อนทันใจ

ทางด้านการเงิน  ผู้บริหารระบุว่า ADVANC ได้ประมาณการงบลงทุนเบื้องต้นจำนวน 10,000-15,000 ล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเพื่อจัดให้มีโครงข่ายการให้บริการ 5G ในพื้นที่สำคัญต่าง ๆ หลังจากชนะประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ที่จะนำมาพัฒนาเป็นบริการ 5G

เหตุผลคือ สถานะการเงินที่ดีของ AIS ประกอบกับงวดการจ่ายค่าใบอนุญาตส่วนใหญ่มีระยะเวลา 10 ปี ทำให้บริษัทสามารถใช้แหล่งเงินทุนจากกระแสเงินสดจากการประกอบธุรกิจ รวมถึงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และ/หรือการออกหุ้นกู้ ซึ่งไม่มีเงื่อนไขที่กระทบต่อสิทธิของผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ในรอบปี 62 บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (หลังหักภาษี) รวม 76,627 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการจัดสรรเงินลงทุนและการจ่ายเงินปันผล

การที่ ณ สิ้นงวด 31 ธ.ค. 2563 บริษัทจะมีเงินกู้ยืมรวม 94,184 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ 1.36 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรก่อนภาษีและค่าเสื่อมที่ 0.92 เท่า ก็แสดงถึงความแข็งแกร่งของโครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการกู้ยืมเพิ่มเติม เมื่อคิดว่าล่าสุดบริษัทมีกำไรสะสมกว่า 4.37 หมื่นล้านบาท

ความแข็งแกร่งทางการเงิน เป็นปัจจัยเสริมยุทธศาสตร์ Economy of speed ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในธุรกิจโทรคมนาคมไร้สายที่เน้นว่าความได้เปรียบในการแข่งขัน ไม่ได้มาจากต้นทุนอย่างเดียว แต่มาจากความเร็วในการให้บริการและการเข้าสู่ตลาด

การเตรียมลงทุนสร้างและทดลองใช้เครือข่ายได้เริ่มขึ้นในทันทีหลังจากได้รับใบอนุญาต 5G ที่จะเป็นแต้มต่อสำคัญของความสามารถทางการตลาดในช่วง 10 ปีข้างหน้า

การที่ ADVANC ทุ่มเงินเดิมพันมากกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท สำหรับประมูลใบอนุญาต 5G ย่าน 700 MHz 1 ใบราคา 17.15 พันล้านบาท (CAT ได้ไป 2 ใบ) ใบอนุญาตย่าน 2600 MHz จำนวน 10 ใบ ราคารวม 19.6 พันล้านบาท (TRUE ได้ไป 9 ใบ) และใบอนุญาตย่าน 26 GHz จำนวน 12 ใบ ราคารวม 5.34 พันล้านบาท (TRUE ได้ไป 8 ใบ, DTAC 2 ใบ และ TOT 4 ใบ) ทำให้คาดเดาได้ง่ายในอนาคตถึงผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดเพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้วยความพร้อมจากเทคโนโลยี 5G เต็มรูปแบบ หลังจากที่ครองส่วนแบ่งตลาดในคลื่นอื่น ๆ ก่อนหน้านี้มาตลอด

การได้มาซึ่งคลื่นความถี่ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ ADVANC ในการเป็นผู้นำยุคเทคโนโลยี 5G ในอีก 10 ปีข้างหน้า แม้จะเร็วเกินไปที่จะบอกถึงรายได้และกำไรในอนาคต แต่ความคาดหมายว่า 5G จะช่วยผลักดันให้บริษัทก้าวสู่มิติใหม่ที่จะส่งมอบบริการดิจิทัลที่สร้างความแตกต่างในแง่ประสบการณ์ของลูกค้า รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมและสังคม

คลื่นความถี่ทั้งสามย่านที่เพิ่มเข้ามาจะเสริมศักยภาพของบริการ 5G ได้อย่างครบถ้วน ทั้งในด้านความครอบคลุมของโครงข่าย และรองรับการใช้งาน 5G ในทุกรูปแบบทั้งสำหรับลูกค้าบุคคลและลูกค้าองค์กร อาทิเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง (Augmented reality/Virtual reality) สำหรับสื่อบันเทิงและเกม, บริการด้าน IoT หรือการที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเทอร์เน็ต, บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สาย (Fixed Wireless Broadband) ซึ่งล้วนจะเป็นแหล่งสร้างรายได้ใหม่ให้กับธุรกิจโทรคมนาคมในอนาคต โดยเฉพาะการขยายบริการใหม่ ๆ เข้าสู่กลุ่มลูกค้าองค์กรในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ อันเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักที่มาเสริมการดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ

ตลาดองค์กรเช่นนี้ ยังเปิดกว้างให้สร้างรายได้มหาศาล เกินกว่ามูลค่าเงินลงทุน

ดังนั้นเสียงเชียร์ให้ซื้อจึงสมเหตุสมผล เพียงแต่อย่างที่ทราบกันดี ราคาหุ้น และผลประกอบการบริษัท ไม่จำเป็นต้องไปทิศทางเดียวกัน

Back to top button