สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 24 ก.พ. 2563

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 24 ก.พ. 2563


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทรุดตัวลงกว่า 1,000 จุดเมื่อคืนนี้ (24 ก.พ.) หลังจากมีรายงานว่าผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) นอกประเทศจีนมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลว่า การลุกลามอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและผู้ผลิตชิป กลุ่มสายการบิน กลุ่มธุรกิจเรือสำราญ และกลุ่มโรงแรม ต่างก็ร่วงลงอย่างหนัก อันเนื่องมาจากความกังวลในเรื่องดังกล่าว

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 27,960.80 จุด ร่วงลง 1,031.61 จุด หรือ -3.56% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,225.89 จุด ร่วงลง 111.86 จุด หรือ -3.35% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 9,221.28 จุด ดิ่งลง 355.31 จุด หรือ -3.71%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดดิ่งลงเมื่อคืนนี้ (24 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับการที่ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นนอกประเทศจีน และอาจแพร่ระบาดลุกลามไปทั่วโลก รวมทั้งอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่ตลาดหุ้นอิตาลีทรุดตัวลงอย่างหนัก หลังรายงานการพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 200 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 6 ราย

ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 3.79% ปิดที่ 411.86 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,791.87 จุด ร่วง 237.84 จุด หรือ -3.94%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 13,035.24 จุด ดิ่งลง 544.09 จุด หรือ -4.01% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,156.83 จุด ร่วง 247.09 จุด หรือ -3.34%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (24 ก.พ.) โดยทรุดตัวลงรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 4 ปีครึ่ง เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นออกมาท่ามกลางความวิตกว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จะระบาดลุกลามไปทั่วโลก หลังจากพบจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอย่างมากนอกประเทศจีน และอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจโลก

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,156.83 จุด ร่วงลง 247.09 จุด หรือ -3.34%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 3% เมื่อคืนนี้ (24 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ลุกลามไปยังประเทศอื่นๆนอกเหนือจากจีนนั้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลก

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 1.95 ดอลลาร์ หรือ 3.7% ปิดที่ 51.43 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนเม.ย. ดิ่งลง 2.20 ดอลลาร์ หรือ 3.8% ปิดที่ 56.30 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสุงสุดในรอบ 7 ปีเมื่อคืนนี้ (24 ก.พ.) และเคลื่อนตัวเข้าใกล้แนวต้านทางจิตวิทยาที่ระดับ 1,700 ดอลลาร์ เนื่องจากกระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ยังคงเป็นแรงผลักดันให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 27.8 ดอลลาร์ หรือ 1.69% ปิดที่ 1,676.6   ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2556

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 34.6 เซนต์ หรือ 1.87% ปิดที่ 18.876 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 1.9 ดอลลาร์ หรือ 0.19% ปิดที่ 974.2 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 84.10 ดอลลาร์ หรือ 3.2% ปิดที่ 2,521.30 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (24 ก.พ.) ขานรับรายงานของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโกซึ่งระบุว่า ดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐปรับตัวขึ้นในเดือนม.ค. ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 4/2562 และยอดขายบ้านใหม่เดือนม.ค.

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9796 ฟรังก์ จากระดับ 0.9777 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3289 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3208 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.75 เยน จากระดับ 111.61 เยน

ยูโรอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.0842 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0857 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2913 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2973 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6598 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6630 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button