อวสาน ‘ผู้นำเผด็จการ’

ฮอสนี มูบารัก บุรุษเหล็กแห่งอียิปต์ ได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาด้วยวัย 91 ปี หลังจากที่เข้าผ่าตัดในโรงพยาบาลทหารเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา  มูบารักได้ปกครองอียิปต์โดยใช้กฎเหล็กมานานเกือบ 30 ปี แต่ในที่สุดก็ถูกโค่นล้มด้วยการลุกฮือของประชาชนเมื่อปี 2554  ในช่วงที่ “อาหรับสปริง” ลุกลามไปทั่วโลกอาหรับ


พลวัตปี 2020 : ฐปนี แก้วแดง(แทน)

ฮอสนี มูบารัก บุรุษเหล็กแห่งอียิปต์ ได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาด้วยวัย 91 ปี หลังจากที่เข้าผ่าตัดในโรงพยาบาลทหารเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา  มูบารักได้ปกครองอียิปต์โดยใช้กฎเหล็กมานานเกือบ 30 ปี แต่ในที่สุดก็ถูกโค่นล้มด้วยการลุกฮือของประชาชนเมื่อปี 2554  ในช่วงที่ “อาหรับสปริง” ลุกลามไปทั่วโลกอาหรับ

หลังจากที่กองทัพไม่ยอมแทรกแซงการประท้วง มูบารักยอมมอบอำนาจให้กับคณะกรรมการทหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 และได้หลบไปพักในเมือง ชาร์ม เอ-ชีค  และหลังลาออก ได้ใช้เวลาขึ้นศาลเป็นเวลาหลายเดือนด้วยข้อกล่าวหาคอร์รัปชัน ใช้อำนาจในทางมิชอบ สมคมคิดสังหารผู้ประท้วงที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเขา

มูบารักปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และไม่ได้แสดงถึงความสำนึกผิดหรือแสดงความเสียใจต่อผู้ที่เขาสังหารหรือทำให้บาดเจ็บ  ในช่วงที่มีการไต่สวนคดี มูบารักต้องนั่งรถเข็นขึ้นศาลเพราะมีโรครุมเร้าโดยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร

แม้อัยการได้ขอให้ลงโทษประหารชีวิต แต่ศาลก็ตัดสินจำคุกตลอดชีวิตแทน ซึ่งได้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนที่ต้องการให้เขาต้องโทษสูงสุดสำหรับช่วงเวลาแห่งความอัปยศที่อยู่ในกำมือของผู้นำเผด็จการ

ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ มูบารักเคยเป็นฮีโร่ของคนอียิปต์มาก่อน เขาเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2471 ที่เมือง Kafr-el Meselha ในดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ จบการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารเมื่อมีอายุ 21 ปี และได้เข้าทำงานในกองทัพอากาศ จนประมาณปี 2509 ได้เป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยทหารอากาศ และประสบความสำเร็จในการเป็นนักบินเมื่อไปร่วมทำสงคราม Yom Kippur กับอิสราเอลเมื่อปี 2516

ประธานาธิบดี “อันวาร์ ซาดัท” ในขณะนั้นได้ตั้งเขาเป็นรองประธานาธิบดีในปี 2518 และในตำแหน่งนี้ มูบารักเป็นผู้ปฏิบัติงานแทน  ทำให้ซาดัทได้ไปโฟกัสกิจการระหว่างประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทาบทามเพื่อทำสันติภาพกับอิสราเอลเมื่อปี 2520  จนในที่สุดได้นำไปสู่การทำข้อตกลงที่แคมป์ เดวิด เมื่อปี 2521 และซาดัทได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกับนายกรัฐมนตรีเบนาเฮม เบกิน ของอิสราเอล

แต่การทำข้อตกลงกับอิสราเอลสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มทหาร จนมีการลอบสังหารซาดัทโดยกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงในปี 2524   มูบารักจึงได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทนในวันที่ 14 ตุลาคม 2524 โดยเป็นประธานาธิบดีคนที่สี่ของอียิปต์

เมื่อเข้ารับตำแหน่ง สิ่งแรกที่มูบารักทำคือการยืนยันถึงการปฏิบัติตามข้อตกลง และจากนั้นประกาศภาวะฉุกเฉิน  ห้ามการชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำกัดเสรีภาพในการพูด และอนุญาตให้ตำรวจจับประชาชนขังคุกโดยไม่มีกำหนดได้  มูบารักได้ใช้อำนาจเหล่านี้ในหลายทศวรรษต่อมา

ตลอดระยะเวลาที่ปกครองอียิปต์ องค์กรระหว่างประเทศกล่าวหามูบารักว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง  โดยในปี 2529  กองทัพอียิปต์กวาดล้างทหารเกณฑ์ที่ก่อกบฏ มีการประเมินว่ามีคนถูกจำคุกถึง 30,000 คน เมื่อมีการโจมตีนักท่องเที่ยวอยู่บ่อยครั้งในช่วงปี 2533

มูบารักรอดตายจากการลอบสังหารมาได้หลายครั้งเช่น ในปี 2538 เมื่อกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงเปิดฉากยิงขบวนรถในงานประชุมทั่วแอฟริกาในเอธิโอเปีย

แม้ว่าจะปกครองด้วยกฎเหล็ก แต่อียิปต์ก็ยังได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯ มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และมูบารักยังได้ให้กองกำลังอียิปต์เข้าร่วมกับพันธมิตรที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำเพื่อขับอิรักออกจากคูเวตเมื่อปี 2534

มูบารักเป็นพันธมิตรสำคัญของชาติตะวันตกมาโดยตลอด แต่ได้คัดค้านการบุกอิรักของสหรัฐฯ เมื่อปี 2546 และในที่สุดได้พบกับความผิดหวังมากขึ้นกับการทำข้อตกลงสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์  รัฐบาลวอชิงตันเริ่มวิจารณ์การปกครองด้วยกฎเหล็กของมูบารักมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเลือกตั้งในปี 2548 และปี 2553 ที่ผู้สังเกตการณ์จากภายนอกโจมตีอย่างกว้างขวาง

ในขณะที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ในชนบท มีชาวอียิปต์ถึง 40% ที่ยังยากจน และอัตราการว่างงานสูงเกือบ 10%   ด้วยภาวะเหล่านี้ ทำให้เกิดการประท้วงเพื่อโค่นล้มมูบารัก หลังจากที่เกิดขึ้นการปฏิวัติในตูนิเซียจนทำให้เกิดปรากฏการณ์ “อาหรับ สปริง” ไปทั่วโลกอาหรับ

ในช่วงท้าย ๆ ของการปกครอง  มูบารักคัดค้านการแต่งตั้งรองประธานาธิบดี จนทำให้เกิดความสงสัยถึงการสืบทอดอำนาจผู้นำอียิปต์  มีการมองกันว่า “กามาล” ซึ่งเป็นลูกชายคนเล็ก น่าจะได้เป็นผู้สืบทอดอำนาจแต่ก็ไม่เคยมีการเตรียมการอย่างเป็นทางการ

เมื่อการลุกฮือของชาวอียิปต์รุนแรงมากขึ้น มูบารักหันไปหา โอมาร์ สุไลมาน หัวหน้าสายลับเก่าแก่ของเขาซึ่งเป็นคนที่ชาติตะวันตกไว้วางใจเนื่องจากได้ช่วยสู้รบกับขบวนการอัลกออิดะห์  มูบารักแต่งตั้งสุไลมานเป็นรองประธานาธิบดีในวันที่ 29 มกราคม 2555 แต่พอวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เมื่อการประท้วงรุนแรงมากขึ้น มูบารักประกาศมอบอำนาจให้สุไลมานแต่ยังคงอยู่ในอำนาจ ต่อมาในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ สุไลมานแถลงการลาออกของมูบารักทางโทรทัศน์โดยใช้เวลาเพียง 1 นาทีและมอบอำนาจให้กองกำลังติดอาวุธ

ในระหว่างที่ถูกกักขังและไต่สวน ในที่สุดได้มีการเปิดเผยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของมูบารักหลังจากที่มีการคาดเดากันมานาน  โดยในปี 2553 มูบารักได้ผ่าตัดถุงน้ำดีในเยอรมนี และทนายความเผยว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร  หลังจากนั้นมีการผ่าตัดอีกหลายครั้งแต่มะเร็งก็ยังลุกลาม

ไม่กี่วันหลังจากมีคำตัดสินเมื่อปี 2555  สุขภาพของมูบารักถดถอยลงเรื่อย ๆ เมื่ออยู่ในคุก แพทย์ต้องใช้เครื่องปั๊มหัวใจและใส่เครื่องช่วยหายใจหลายครั้งจนอาการเข้าขั้นโคม่า แต่มูบารักก็ยังอยู่รอดได้และในระหว่างที่มีการไต่สวนใหม่หลายครั้ง เขาถูกกักขังในโรงพยาบาลทหารแห่งหนึ่งจนกระทั่งถึงปี 2560 เมื่อศาลสูงสุดตัดสินให้พ้นผิดในข้อหาที่มีบทบาทสำคัญในการสังหารผู้ประท้วง แต่ข้อหาคอร์รัปชันยังคงอยู่

6 ปีกว่าหลังจากที่มีการประท้วงโค่นล้มเขา ในเดือนมีนาคม 2560 มูบารักได้ออกจากคุกเมื่อมีอายุได้ 88 ปี   ในช่วงท้าย ๆ ของชีวิต ศาลสวิสสั่งให้เลิกยึดทรัพย์สินของเขา และครอบครัวได้พบกันอีกครั้ง

จุดจบของผู้นำเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นมูบารักหรือคนอื่น ๆ ที่ได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้ ไม่เคยสวยหรูสักคน ถ้าตามคำพระก็คือ “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” แต่ถ้าภาษาชาวบ้าน ก็คือ “ไม่ตายดี” สักคน …ผู้นำทุกคนต้องสังวรไว้ให้ดี อย่า “เหลิง” อำนาจและ ลาภ ยศ สรรเสริญให้มากเกินงาม

Back to top button