BDMS เกมเทกโอเวอร์ฉันปรปักษ์

จากกรณีบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ประกาศทำคำเสนอซื้อหุ้นบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH ที่เหลือทั้งหมด 75% ราคาหุ้นละ 125 บาท รวมมูลค่า 85,000-100,00 ล้านบาท จากเดิม BDMS ถือหุ้น BH อยู่แล้ว 24.99% ทำให้เกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับเชิงลบ จากผู้บริหารและกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ BH อีกฝ่าย อย่างกลุ่มโสภณพนิช โดยทันทีเช่นกัน


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

จากกรณีบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ประกาศทำคำเสนอซื้อหุ้นบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH ที่เหลือทั้งหมด 75% ราคาหุ้นละ 125 บาท รวมมูลค่า 85,000-100,00 ล้านบาท จากเดิม BDMS ถือหุ้น BH อยู่แล้ว 24.99% ทำให้เกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับเชิงลบ จากผู้บริหารและกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ BH อีกฝ่าย อย่างกลุ่มโสภณพนิช โดยทันทีเช่นกัน

ปรากฏชัดจากถ้อยแถลงที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ผู้บริหาร BH ไม่คาดคิดและไม่เคยทราบเรื่องดังกล่าวมาก่อน ในอดีต BH และ BDMS ต่างดำเนินธุรกิจอย่างอิสระต่อกันและปราศจากการประสานความร่วมมือทางธุรกิจใด ๆ และเห็นว่าทั้ง 2 กลุ่มโรงพยาบาลดำเนินธุรกิจที่แข่งขันกัน และต่างเป็นผู้นำธุรกิจด้านการแพทย์และท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ (Medical Tourism)

จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญที่ผู้บริโภค พึงได้รับการบริการทางการแพทย์ตติยภูมิ ภายใต้การแข่งขันอย่างเป็นธรรม ดังนั้นขอเข้าปรึกษาและให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เพื่อชี้แจงถึงสภาพการแข่งขันธุรกิจด้านการแพทย์และขอความชัดเจนเชิงนโยบายเกี่ยวกับการทำเทนเดอร์จาก BDMS ดังกล่าว

ปรากฏการณ์ตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้น BH ครั้งนี้ “กลุ่มปราสาททองโอสถ” จึงเข้าข่ายเป็นการซื้อกิจการแบบไม่เป็นมิตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้..!!

หากว่าด้วยหลักการทั่วไป การซื้อกิจการ (Acquisition) หมายถึงการที่บริษัทหนึ่งเข้าไปซื้อกิจการอีกบริษัทหนึ่ง แบ่งเป็น 2 รูปแบบที่สำคัญ รูปแบบแรกการซื้อสินทรัพย์ (Asset Acquisition) เป็นการที่บริษัทหนึ่งเข้าไปดำเนินการซื้อทรัพย์สินอีกบริษัทหนึ่ง อาจเป็นการซื้อทรัพย์สินทั้งหมดหรือซื้อเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญ

ส่วนรูปแบบที่สอง การซื้อหุ้น (Takeover)  เป็นการที่บริษัทหนึ่งเข้าไปซื้อทั้งทรัพย์สินและหนี้สินอีกบริษัทหนึ่งด้วยการซื้อ “หุ้น” จนเป็นผลให้ผู้ถือหุ้นเดิมสูญเสียอำนาจในการบริหาร โดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ การซื้อกิจการแบบเป็นมิตร (Friendly Takeover) ถือเป็นการที่บริษัทที่ถูกซื้อกิจการสมัครใจ ที่จะขายหุ้นให้บริษัทที่เข้าซื้อกิจการ เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินการต่อไปได้

ส่วนอีกลักษณะเป็นการซื้อกิจการแบบไม่เป็นมิตร (Hostile Takeover) ถือเป็นการที่บริษัทที่ถูกซื้อกิจการไม่เต็มใจที่จะขายหุ้นให้แก่บริษัทที่เข้าซื้อกิจการ โดยบริษัทที่เข้าซื้อกิจการจะเข้าซื้อหุ้น จนกระทั่งผู้ถือหุ้นเดิมสูญเสียอำนาจในการออกเสียงและควบคุมกิจการไป

กรณี BDMS ทำเทนเดอร์หุ้น BH จึงเป็นการซื้อหุ้น (Takeover) ในรูปแบบการเทกโอเวอร์ฉันปรปักษ์ (Hostile Takeover) นั่นเอง..! แต่เกมนี้ “กลุ่มตระกูลปราสาททองโอสถ” ดูเหมือนได้เปรียบ “กลุ่มตระกูลโสภณพนิช” จากข้อเท็จจริงที่ว่า “ตระกูลโสภณพนิช” ปัจจุบันถือหุ้น BH อยู่เพียง 21% เท่านั้น

นั่นหมายถึงหาก BDMS ตั้งโต๊ะเทนเดอร์หุ้น BH จากรายย่อยได้ทั้งหมด 54% เท่ากับว่า “กลุ่มตระกูลปราสาททองโอสถ” จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และคุมอำนาจการบริหารแบบเบ็ดเสร็จเกือบ 80% ทันที และบทเรียนการเล่นทีเผลอแบบนี้ จะสร้างความเจ็บปวดให้กับ “ตระกูลโสภณพนิช” ไม่น้อยทีเดียว หรือหาก “กลุ่มตระกูลโสภณพนิช” พลิกเกมสู้..ก็ต้องแลกกับ “เงินทุน” ที่ต้องใช้อย่างมหาศาลเช่นกัน

มาถึงจุดนี้ “ตระกูลโสภณพนิช” เกมนี้..เหนื่อยจริง ๆ และต้องวิ่งเข้าออกกระทรวงพาณิชย์เลยทีเดียว..!!

Back to top button