THAI เดินหน้าลดค่าใช้จ่าย-ชะลอลงทุน สู้วิกฤต “โควิด-19”

THAI เดินหน้าลดค่าใช้จ่าย-ชะลอลงทุน สู้วิกฤต “โควิด-19”


นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีมาตรการลดค่าใช้จ่ายอย่างเข้มข้น ส่งผลให้การควบคุมค่าใช้จ่ายลดลงกว่าปีก่อน 5.8%

ทั้งนี้ บริษัทฯ ต้องเผชิญผลกระทบจากปัจจัยลบหลายประการทั้งจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ภัยธรรมชาติ การแข็งค่าของเงินบาทที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง บริษัทฯ ต้องหยุดบินในบางเส้นทางจากเหตุการณ์ปิดน่านฟ้าของสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน การประท้วงในฮ่องกง และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธ์ใหม่ในช่วงปลายปี 2562

ประกอบกับมีการรับรู้ค่าชดเชยตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เพิ่มขึ้นจาก 300 วันเป็น 400 วัน รวมทั้งปัจจัยภายในคือปัญหาความล่าช้าของการซ่อมเครื่องยนต์ของบริษัทผู้ผลิต ทำให้ผลประกอบการปี 2562 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 2.7%

ส่วนปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 0.9% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.1% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 77.6% และจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 24.51 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.8% ซึ่งผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในปี 2562 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 184,046 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 15,454 ล้านบาท หรือ 7.7%

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลประกอบการยังเป็นลบ แต่ในปี 2562 นี้บริษัทฯ มีการควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายรวม 196,470 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 12,088 ล้านบาท หรือลดลง 5.8% ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีขาดทุนสุทธิ 12,017 ล้านบาท ถึงแม้ในปี 2562 บริษัทฯ จะประสบภาวะขาดทุน แต่บริษัทฯ มีความก้าวหน้าของแผนงานที่สำคัญ ได้แก่

ความคืบหน้าของโครงการ MRO การบินไทยในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการได้จัดส่งเอกสารการคัดเลือกให้แก่เอกชนผู้ประสงค์ร่วมทุนเรียบร้อยแล้วในเดือนธันวาคม 2562 โดยกำหนดการยื่นข้อเสนอของเอกชนผู้ประสงค์ร่วมทุนภายในวันที่ 6 มีนาคม 2563 และจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเอกสารและประเมินข้อเสนอของคณะกรรมการคัดเลือกต่อไป

การบูรณาการการบริหารจัดการการบินไทยและไทยสมายล์ โดยใช้หลักการบริหารจัดการแบบ Brother-Sister โดยมีการควบรวมแผนงานในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะด้านการขายและการวางแผนเส้นทางบินที่เน้นให้การบินไทยซึ่งมีประสบการณ์ด้านการขายเข้ามามีส่วนสนับสนุนมากขึ้น โดยการบินไทยจะเป็นผู้กำหนดทิศทางและกลยุทธ์ในการขายที่นั่งบนเที่ยวบินของสายการบินไทยสมายล์ทุกเส้นทางบินเริ่มตั้งแต่ เดือนมีนาคม 2562 ภายใต้วิธีการ Block Space Concept ส่งผลให้ผลการดำเนินงานโดยรวม เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบงวดเดียวกันของปีก่อน

การบริหารจัดการด้านรายได้ การขายและการตลาด โดยดำเนินกลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าแบบ Personalized มุ่งเน้นการสร้างรายได้เสริม (Ancillary Revenue) เช่น รายได้จากการขาย Preferred Seatและการเพิ่มรายได้ในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการบิน เช่น การเพิ่มรายได้ของฝ่ายครัวการบินรวมทั้งเร่งดำเนินงานด้าน Digital Marketing โดยใช้ Big Data และ Data Analytic ในการวิเคราะห์ตลาดเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มการขายทาง Online รวมทั้งการขายสินค้าออนไลน์โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางการค้าที่อยู่ในระบบตลาดสินค้าออนไลน์ให้มากขึ้น

การดำเนินการขายเครื่องบินที่ปลดระวางแล้วอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 มีการโอนกรรมสิทธิ์เครื่องบินให้แก่ผู้ซื้อรวม 6 ลำ ได้แก่ เครื่องบินแบบแอร์บัส A330-300 จำนวน 5 ลำ และเครื่องบินแบบโบอิ้ง B747-400 จำนวน 1 ลำ

พัฒนาคุณภาพการบริการให้กับผู้โดยสารในทุกจุดสัมผัสบริการ โดยได้ดำเนินการสร้างห้องรับรองพิเศษ Royal Orchid Prestige Lounge แห่งที่ 8 ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภายใต้แนวคิด Ecology Green Mood Concept ที่นอกจากมีความโดยเด่นในด้านความสะดวกสบายและการบริการที่มีเอกลักษณ์แบบไทยแล้ว ผู้โดยสารที่มาใช้บริการจะรู้สึกเหมือนได้พักผ่อนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ซึ่งจะสามารถรองรับความต้องการและปริมาณของผู้โดยสารที่มาใช้บริการได้มากขึ้น โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครันเพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความพึงพอใจสูงสุดก่อนการเดินทาง โดยได้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562

ทำการเปิดเส้นทางบินใหม่ โดยเปิดเส้นทางบินสู่เซนได ประเทศญี่ปุ่น ศูนย์กลางภูมิภาคโทโฮคุ ทำการบินเที่ยวบินแรกไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 โดยทำการบิน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดไวรัสโควิด-19 มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้บริษัทฯ ต้องปรับลดเที่ยวบินเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับสายการบินอื่นๆ ซึ่งบริษัทฯ ได้วางแผนและกำหนดมาตรการต่างๆ รองรับวิกฤตินี้ และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

โดยมุ่งเน้นการควบคุมและลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการและความปลอดภัย อาทิ ชะลอการลงทุน ชะลอการว่าจ้างบุคลากร ลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้าง ลดวัสดุอุปกรณ์สิ้นเปลือง ฯลฯ รวมทั้ง ปรับลดเงินเดือนระดับผู้อำนวยการใหญ่ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ พร้อมกันนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ร่วมสมัครใจลดผลตอบแทนลงร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และรุนแรงขึ้น บริษัทฯ ได้วางแผนและเพิ่มระดับมาตรการรับมืออย่างเข้มข้นต่อไป

Back to top button