พาราสาวะถีอรชุน

สะเทือนซางไปตามๆ กัน หลังจากการออกมาป่าวประกาศให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งโดยไม่กำหนดเวลาของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย จน วิษณุ เครืองาม เนติบริกรประจำคสช.และรัฐบาล ต้องรีบออกมาปฏิเสธกรณีที่เกิดขึ้นไม่กดดันรัฐบาลแต่จะมีผลต่อการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสปช.มากกว่า


 สะเทือนซางไปตามๆ กัน หลังจากการออกมาป่าวประกาศให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งโดยไม่กำหนดเวลาของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย จน วิษณุ เครืองาม เนติบริกรประจำคสช.และรัฐบาล ต้องรีบออกมาปฏิเสธกรณีที่เกิดขึ้นไม่กดดันรัฐบาลแต่จะมีผลต่อการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสปช.มากกว่า

พูดอย่างนี้เลยทำให้เกิดการตีความว่า นี่เป็นการส่งสัญญาณกลายๆ หรือเปล่า กระบวนการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อาจมีอุบัติเหตุกลางทางก่อนจะถูกส่งไปให้ประชาชนลงประชามติ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่มีการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว คือ หากสปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมีการตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่

เหมือนอย่างที่วิษณุได้อธิบายเป็นฉากๆ หากเกมเดินไปตามนั้น จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการใหม่จำนวน 21 คน มาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ก่อนการจัดทำประชามติ 4 เดือน หากประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบ จะใช้เวลาทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จใน 6 เดือน จากนั้นอีก 3 เดือนจะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งคาดการณ์ว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในช่วงเดือนเมษายนปี 2560

เรียกได้ว่า พลังขับเคลื่อนของสุเทพนั้นมีผลที่น่าจับตามองในแง่ของบรรดาสมาชิกสปช.ที่เป็นลูกไล่ขึ้นเวทีม็อบกปปส.เป็นว่าเล่น ออกมารับลูกกันต่อเนื่อง ทั้งเสนอให้โหวตคว่ำร่างกันแบบโต้งๆ กับทำให้เนียนหน่อยคือชงคำถามควบคู่การทำประชามติให้ประชาชนช่วยออกเสียงว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเป็นเวลา 2 ปี

ยิ่งวิษณุมาออกตัวในช่วงท้ายของการให้สัมภาษณ์ว่า เหตุที่จะให้การทำงานเบี่ยงเบนออกนอกเส้นทางถือว่าเป็นอุบัติเหตุ รัฐบาลเองไม่ได้เชียร์หรือห้ามใครทั้งสิ้น ต้องขีดเส้นใต้ตรงนี้ มันมีอะไรซ่อนเร้นอยู่แน่นอน เหมือนการออกตัวไว้แต่เนิ่นๆ คงไม่ใช่ประสานักกฎหมายแต่น่าจะเป็นพวกนกรู้ที่ดูสถานการณ์และแนวโน้มก็เห็นแล้วว่า หนทางข้างหน้าจะออกมาอย่างไร

กระนั้นก็ตาม วันวานพูดไปถึงกระบวนการเคลื่อนของเทพเทือกน่าจะมีผลต่อจังหวะก้าวภายในพรรคประชาธิปัตย์อยู่ไม่น้อย ล่าสุด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รีบออกมาปฏิเสธ การเคลื่อนไหวของกลุ่มกปปส.ไม่เกี่ยวกับพรรคเก่าแก่ แต่มีจุดยืนเรื่องการปฏิรูปที่เหมือนกัน เช่น การปฏิรูปเรื่องการศึกษา หากทำได้จะเป็นผลดีกับบ้านเมือง

ไม่เพียงเท่านั้น ยังออกลูกตีกันเทพเทือกเหมือนไม่อยากให้แสดงบทบาทชี้นำกับคนในพรรค ด้วยคำตอบที่ว่า สมาชิกกปปส.จะกลับเข้าสังกัดพรรคเก่าแก่หากมีการเลือกตั้ง สามารถทำได้สำหรับคนที่เคยเป็นนักการเมืองมาก่อน มีเพียงสุเทพคนเดียวเท่านั้นที่ได้ประกาศไว้ชัดเจนแล้วว่าจะไม่กลับมาเล่นการเมืองอีก เหมือนมัดมือชกกันยังไงชอบกล

นอกจากนี้ อภิสิทธิ์ยังพูดถึงการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งด้วยว่า รัฐบาลควรจัดอันดับความสำคัญของการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งมากกว่า เช่น จะทำอย่างไรให้มีการเลือกตั้งโดยสุจริตเที่ยงธรรม ไม่ใช่ให้ปฏิรูปเกือบทุกเรื่อง เพราะการปฏิรูปต้องอาศัยระยะเวลาและเชื่อว่าสังคมจะกดดันให้นักการเมืองสานต่องานปฏิรูป ดังนั้น คสช.ควรยึดการดำเนินการตามโรดแมปที่วางไว้ และเชื่อว่าสังคมจะเห็นด้วย เพราะขณะนี้เกิดความสับสนในเรื่องปฏิรูปที่ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นความขัดแย้ง

แต่คำพูดดังกล่าวก็ย้อนแย้งสิ่งที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เคยบอกไว้ก่อนหน้าในคำถามเดียวกัน ทุกอย่างอยู่ที่ความจำเป็น ถ้าสมมติว่ามันเห็นได้ชัดว่าเพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เพื่อให้การเลือกตั้งมีความเป็นธรรมเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ถ้ามันมีประเด็นอะไรเสนอมาต่อสังคม ตนคิดว่าสังคมก็ไม่ได้แข็งตัวเกินจนจะบอกว่าเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นคิดว่าดีที่สุดคือทำให้ทุกอย่างมันชัดเจน

สรุปแล้วจะเอายังไง หากอยากจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศอย่างสง่างามด้วยการชนะเลือกตั้ง อภิสิทธิ์คงต้องแสดงบทบาทนำในฐานะฝ่ายประชาธิปไตยให้มากกว่าที่เป็นอยู่ กล้าสวนเทพเทือก กล้าที่จะเตือนฝ่ายยึดอำนาจ ขณะเดียวกันก็ต้องเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจประกาศให้ชัดเจนเรื่องการคืนอำนาจให้กับประชาชน

หากทำได้เช่นนี้ เชื่อเหลือเกินการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วยความที่พรรคคู่แข่งถูกมัดมือมัดเท้าอาจต้องแยกสลายกันชั่วคราว โอกาสที่อภิสิทธิ์จะนำพาพรรคเก่าแก่ชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากก็มีอยู่เหมือนกัน แต่นั่นก็ไม่ใช่การการันตีว่าจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ด้วยเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่แยบยลเหลือเกิน

มิหนำซ้ำ จากคำพูดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในงานแต่งลูกชาย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ยกหางเจ้าของงานและ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ให้เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีอนาคตก็ชวนให้คิดกันอยู่ไม่น้อย อำนาจหลังการเลือกตั้งจะเดินกันอย่างไร ที่เห็นเป็นไม้เบื่อไม้เมาเหมือนผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ เอาเข้าจริง การเมืองยังคงเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน ทุกอย่างสามารถพลิกผัน พลิกลิ้นกันได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม เอาแค่เฉพาะหน้าว่าด้วยการปรับครม.ที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน จากเดิมที่มีข่าวว่าสมคิดเซย์โนขอนั่งเป็นที่ปรึกษาเหมือนเดิมดีกว่า ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวของทีมงานอดีตขุนคลังในรัฐบาลทักษิณมอนิเตอร์ข่าวสารทางการเมืองถี่ยิบ พร้อมเรียกใช้งานมือทำงานด้านการข่าวหลายราย เป็นการส่งสัญญาณว่าเจ้าตัวกำลังเตรียมพร้อมที่จะรับตำแหน่งใหญ่

นี่คือความเป็นจริงของการเมืองในบ้านเรา เรื่องที่บอกว่าไม่อาจจะใช่ ใครที่ปฏิเสธมักจะเป็นเรื่องตรงข้าม คงไม่ต่างจากคนที่เคยโพนทะนาว่าจะไม่ทำการปฏิวัติรัฐประหาร แต่สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการยึดอำนาจจากรัฐบาลประชาธิปไตยทุกครั้ง แตกต่างกันเพียงแค่ว่ากระบวนการหลังการยึดอำนาจจะแสดงให้เห็นว่าใครมีการเตรียมการอย่างเป็นระบบหรือใครถูกบังคับให้ต้องทำเท่านั้นเอง  

Back to top button