สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 5 มี.ค. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 5 มี.ค. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 900 จุดเมื่อคืนนี้ (5 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) หลังจากมีรายงานพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทั้งในสหรัฐและอีกหลายประเทศ โดยความกังวลดังกล่าวได้ฉุดหุ้นกลุ่มสายการบินและกลุ่มธุรกิจเรือสำราญดิ่งลงอย่างหนัก ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงต่ำกว่าระดับ 1%
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,121.28 จุด ลดลง 969.58 จุด หรือ -3.58% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,023.94 จุด ลดลง 106.18 จุด หรือ -3.39% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 8,738.59 จุด ลดลง 279.49 จุด หรือ -3.10%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (5 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับขนาดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้บดบังความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางต่างๆ นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่บริษัทจำนวนมากขึ้นได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับผลกำไรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วย
ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 1.43% ปิดที่ 380.76 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,361.10 จุด ลดลง 103.79 จุด หรือ -1.90%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,944.72 จุด ลดลง 182.97 จุด หรือ -1.51% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,705.43 จุด ลดลง 110.16 จุด หรือ -1.62%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (5 มี.ค.) หลังบวกขึ้นติดต่อกัน 3 วัน โดยนักลงทุนเทขายหุ้นออกมาอีกครั้งจากความวิตกเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากบริษัทต่างๆ จำนวนมากขึ้นได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,705.43 จุด ลดลง 110.16 จุด หรือ -1.62%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 2 เมื่อคืนนี้ (5 มี.ค.) หลังจากมีรายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เพิ่มขึ้นในสหรัฐและอีกหลายประเทศ ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าการแพร่ระบาดอย่างหนักของไวรัสดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ และทำให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกทรุดตัวลงด้วย
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 88 เซนต์ หรือ 1.9% ปิดที่ 45.90 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ค. ร่วงลง 1.14 ดอลลาร์ หรือ 2.2% ปิดที่ 49.99 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ (5 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนแห่ซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐร่วงลงอย่างหนัก นอกจากนี้ สกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่ายังช่วยให้สัญญาทองคำมีความน่าดึงดูดเพิ่มขึ้นด้วย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 25 ดอลลาร์ หรือ 1.52% ปิดที่ 1,668 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2563
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 14.7 เซนต์ หรือ 0.85% ปิดที่ 17.393 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 9.5 ดอลลาร์ หรือ 1.09% ปิดที่ 865.7 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 84.40 ดอลลาร์ หรือ 3.5% ปิดที่ 2,469.40 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (5 มี.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากกระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกรอบในการประชุมวันที่ 17-18 มี.ค. หลังจากที่เพิ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.50% เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.พ.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้
ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 106.39 เยน จากระดับ 107.34 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สวิส ที่ระดับ 0.9486 ฟรังก์ จากระดับ 0.9560 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3427 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3402 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1199 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1139 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.2945 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2868 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6591 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6614 ดอลลาร์สหรัฐ