BJC คาดยอดขายปีนี้ยังโต! ตั้งงบฯลุยขยายสาขา 1 หมื่นลบ. คุม D/E ไม่เกิน 2 เท่า
BJC คาดยอดขายปีนี้ยังโต! ตั้งงบฯลุยขยายสาขา 1 หมื่นลบ. คุม D/E ไม่เกิน 2 เท่า
นายรามี ปีไรเนน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC เปิดเผยว่า บริษัทคาดยอดขายปี 63 จะเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียวระดับกลาง เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ทำได้ 1.74 แสนล้านบาท โดยมาจากการขยายสาขาเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต 3 แห่งในไทย และ 1 แห่งในต่างประเทศ ซุปเปอร์มาร์เก็ต 2 แห่ง และ มินิบิ๊กซี 300 แห่ง จากสิ้นปี 62 มีไฮเปอร์มาร์เก็ต 151 แห่ง ซุปเปอร์มาร์เก็ต 62 แห่ง มินิบิ๊กซี 1,016 แห่ง และ Pure Pharmacy 145 แห่ง รวมทั้งสิ้น 1,374 แห่ง
ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะสินค้าบรรจุภัณฑ์ เช่น ภาชนะแก้ว กระป๋องอลูมิเนียม และ บรรจุภัณฑ์พลาสติก ปีนี้จะมีการเติบโตที่ดีซึ่งล่าสุดบริษัทมีการขยายกำลังการผลิตกระป๋องอลูมิเนียมในประเทศเวียดนามเป็น 1,800 ล้านกระป๋องต่อปี หรือ เพิ่มขึ้น 30% จากเดิม 1,400 ล้านกระป๋องต่อปี ส่วนโรงงานในไทยบริษัทตั้งเป้าผลิตกระป๋องเป็น 700 ล้านกระป๋องต่อปี และ 900 ล้านกระป๋องต่อปีในปี 64 โดยพบว่า ความต้องการลูกค้ากระป๋องมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะขนาดกระป๋อง 500 มิลลิลิตร (ml) ที่ใช้บรรจุเบียร์ และน้ำมะพร้าว และ 180 ml ที่ใช้บรรจุน้ำอัดลม
ด้านกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และทางเทคนิคปีนี้จะเติบโตมากกว่า 5% โดยเฉพาะกลุ่มเวชภัณฑ์ เนื่องจากปีนี้ความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น ส่วนเครื่องมือแพทย์ปีนี้จะเติบโตได้ดีเช่นกัน หลังงบประมาณภาครัฐจะเริ่มเบิกใช้ได้ หลังมีความล่าช้ามาจากปีก่อน ซึ่งสัดส่วนรายได้มาจากโรงพยาบาลรัฐประมาณ 60%
ขณะที่ กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะการผลิตทิชชู่ที่ปีนี้เพิ่มขึ้น 50% หรือ เพิ่ม 20,000 ตันต่อปี เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่มากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 46,000 ตันต่อปี
“ในช่วงต้นยอดขายปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ใน 19 สาขาที่มีลูกค้าเป็นต่างชาติ ซึ่งที่มีผลกระทบหลักคือ 4 สาขา คือสาขากระบี่ สาขาราชดำริ สาขาภูเก็ต และ สาขาพัทยา ที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ผู้บริโภคในพื้นที่ก็ได้เข้ามาซื้อสินค้าเพื่อกักตุนมากขึ้นแทนที่นักท่องเที่ยว ขณะที่สินค้าส่วนใหญ่เองเป็นการผลิตในประเทศ และสินค้าบางส่วนก็ได้มีการสั่งซื้อรองรับไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงยังไม่ได้รับผลกระทบในขณะนี้”นายรามี กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทได้วางงบลงทุนไว้ราว 8,000-10,000 ล้านบาท โดยงบลงทุนส่วนใหญ่จะใช้ในการขยายสาขาบิ๊กซี ปรับปรุงสาขาเดิม และ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นอกจากนี้บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้ วงเงิน 12,000 ล้านบาทในเดือนมี.ค. นี้ หลังหุ้นกู้ชุดเดิมครบกำหนดชำระ โดยอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ชุดใหม่จะลดลงจากหุ้นกู้ชุดเดิม เนื่องจากภาวะดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง ซึ่งการออกหุ้นกู้ยังช่วยลดต้นทุนทางด้านการเงินลง โดยปัจจุบันต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ 3% ส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ปัจจุบันอยู่ที่ 1.3 เท่า และ บริษัทตั้งเป้าควบคุมไม่ให้เกิน 2 เท่า