อวดโฉม 30 หุ้นเทิร์นอะราวด์ งบฯปี 62 พลิกกำไรโดดเด่น!
อวดโฉม 30 หุ้นเทิร์นอะราวด์ งบฯปี 62 พลิกกำไรโดดเด่น!
บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์(SET) ประกาศงบการเงินปี 2562 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยภาพรวมส่วนใหญ่กำไรชะลอตัวลง เนื่องจากธุรกิจปี 2562 ได้รับผลกระทบสงครามการค้าจีน-สหรัฐ และราคาน้ำมันในตลาดโลกและค่าการกลั่นไม่สดใส อีกทั้งเงินบาทแข็งค่า และการเมืองในประเทศไม่นิ่ง ส่งผลกระทบให้งบประมาณภาครัฐล่าช้า
โดยปัจจัยดังกล่าวทำให้หลายกลุ่มธุรกิจผลกำไรออกมาน่าผิดหวัง อาทิ กลุ่มอสังหาฯ, กลุ่มวัสดุก่อสร้าง, กลุ่มมีเดีย และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตามเพื่อให้เห็นภาพรวมผลการดำเนินงานชัดเจนมากขึ้นทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการสำรวจผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ปี 2562 มานำเสนอ โดยครั้งนี้คัดเลือกเฉพาะกลุ่มบริษัทที่พลิกมีกำไรมานำเสนอโดยจะนำข้อมูลประกอบ 5 อันดับตามตารางดังนี้
อันดับ 1 บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC แจ้งผลการดำเนินงานปี 2562 สิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค.62 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 5,421.89 ล้านบาท จากปี 2561 ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 4,368.69 ล้านบาท เนื่องจากรวมรายได้จากการขายและการให้บริการปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 81,167.13 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 75,289.66 ล้านบาท โดยมาจากรายได้จากการขายเครื่องโทรศัพท์และชุดเลขหมาย และรายได้จากการดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้น
อีกทั้งรวมต้นทุนขายและการให้บริการปี 2562 ลดลงอยู่ที่ 56,113.81 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 57,279.61 ล้านบาท โดยเฉพาะต้นทุนการให้บริการโทรศัพท์ที่ลดลงมาก นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการบริหารปี 2562 ลดลงอยู่ที่ 10,644.56 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 17,930.15 ล้านบาท
ด้าน นายดิลิป ปาล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เปิดเผยว่า ปี 63 บริษัทตั้งเป้าการเติบโตสำหรับรายได้จากค่าบริการไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (IC) ในอัตราร้อยละที่เป็นตัวเลขหลักเดียวในระดับต่ำ (low single-digit) ขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้ตัดจำหน่าย (EBITDA) คาดการณ์การเติบโตในอัตราร้อยละที่เป็นตัวเลขหลักเดียวในระดับกลาง (mid single-digit) ส่วนเงินลงทุน (CAPEX) ประมาณการณ์ไว้ที่ 13,000-15,000 ล้านบาทใกล้เคียงกับปีก่อน
อันดับ 2 บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ STPI แจ้งผลการดำเนินงานปี 2562 สิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค.62 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 2,089.37 ล้านบาท จากปี 2561 ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 629.38 ล้านบาท โดยปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีรายได้จากการรับจ้างผลิต การขาย และบริการเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท บูทิค พระโขนง วัน จำกัด และบริษัทบูทิค พระโขนง ทู จำกัด เพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ในสิทธิการเช่าที่ดิน อาคารสำนักงาน และศูนย์การค้าที่มีผู้เช่าเกือบเต็มพื้นที่ ทำให้ปัจจุบันมีรายได้จากธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเป็น 249 ล้านบาท หรือพิ่มขึ้น 133% จากปี 2561
นอกจากนี้ดอกเบี้ยรับและรายได้อื่นๆ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เนื่องจากการนำเงินสดส่วนเกินไปกระจายลงทุนในระยะสั้นในตราสารหนี้ที่จะถือจนครบกำหนด ซึ่งได้รับอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับตลาดโดยรวม รวมทั้งมีรายได้จากการขายเศษเหลือคงเหลือจากโครงการที่จบไปแล้ว
อันดับ 3 บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ U แจ้งผลการดำเนินงานปี 2562 สิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค.62 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 1,867.35 ล้านบาท จากปี 2561 ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 629.91 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากธุรกิจโรงแรมปี 2562 อยู่ที่ระดับ 7,264.01 ล้านบาท จากปี 2561 อยู่ที่ 5,645.63 ล้านบาท
อันดับ 4 บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART แจ้งผลการดำเนินงานปี 2562 สิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค.62 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 533.85 ล้านบาท จากปี 2561 ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 277.06 ล้านบาท เนื่องจาก การเติบโตของผลประกอบการของบริษัทย่อยในส่วนของธุรกิจบริหารหนี้ และการพลิกกลับมามีผลกำไรของธุรกิจอื่นๆ ของกลุ่มบริษัท
โดยบริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นจากงบการเงินรวมในปี 2562 เท่ากับ 3,242.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นในส่วนของธุรกิจที่มีกำไรขั้นต้นที่สูงขึ้น เช่น ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล และธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ พร้อมกันนี้บริษัทเตรียมจ่ายปันผลจากงวดดำเนินงานวันที่ 1 ก.ค.62-31 ธ.ค.62 เป็นเงินสด 0.24 บาทต่อหุ้น ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 21 เม.ย.63 และกำหนดจ่าย 8 พ.ค. 63
ด้านนายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมของกลุ่มบริษัทในปี 63 จะเติบโตได้ 10% และกำไรเติบโต 25% จากปีก่อนที่มีรายได้ 11,926.92 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 533.85 ล้านบาท โดยหลักจะมาจากผลการดำเนินงานของบมจ.เจเอ็มที (JMT) ที่คาดว่ารายได้จะเติบโต 15% หรือมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 25% ของรายได้รวมกลุ่ม JMART จากปีก่อนอยู่ที่ 21% เนื่องจากมองโอกาสขยายพอร์ตธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันเพิ่มขึ้นในปีนี้
ขณะที่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือของ บมจ.เจโมบาย (J Mobile) คาดว่าปีนี้รายได้จะเติบโต 10% หรือมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 60% ของรายได้รวม ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 64% เนื่องจากบริษัทได้เปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจจากเดิมที่มุ่งไปทาง Retail มาเป็น Finance มากขึ้น อย่างไรก็ตามการเติบโตของธุรกิจในปีนี้ บริษัทจะมุ่งสู่การเป็น Gadget Destination คาดว่าจะทำยอดขายสินค้าเพิ่มเป็น 760 ล้านบาท จากเดิม 400 ล้านบาท, การขายสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยี 5G ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายเพิ่มขึ้น
พร้อมกันนี้ บริษัทตั้งเป้าเปิดสาขาใหม่ในปีนี้ 15 สาขา รวมทั้งปรับโฉมสาขาเดิม 40 สาขา ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนสัดส่วนสินค้าในร้านเจมาร์ท ซึ่งมีสมาร์ทโฟนครบทุกแบรนด์ชั้นนำ ทำให้มีสินค้านวัตกรรมมากขึ้น อีกทั้ง ความสำเร็จในการเป็นพันธมิตรทางการค้ากับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) จัดจำหน่ายแพ็คเกจซิมควบคู่กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ช่วยเพิ่มความสามารถการแข่งขันทางการตลาดด้วย
อันดับ 5 บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART แจ้งผลการดำเนินงานปี 2562 สิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค.62 (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ 426.03 ล้านบาทจากปี 2561 ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 1,075.64 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานประจำปี 2562 พลิกมีกำไร เนื่องจากมีรายได้จากการขายและงานตามสัญญา รวมทั้งรายได้จากการบริการเป็นจำนวนทั้งสิ้น 14,134 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 16%
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ SAMART เปิดเผยว่า ในปี 63 ตั้งเป้ารายได้เติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 40% มาที่ 20,000 ล้านบาท แม้จะมีการคาดการณ์ว่าสภาพเศรษฐกิจอาจจะยังไม่สดใสนัก แต่กลุ่ม SAMART มั่นใจว่าจะเป็นปีแห่งการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และขยายธุรกิจด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
กลุ่ม SAMART ชูกลยุทธ์นำเสนอ โซลูชั่นและเทคโนโลยีที่หลากหลาย หรือ Unlimited Solutions จากปัจจัยที่มาจากนโยบายภาครัฐที่จะก้าวสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) ด้วยการส่งเสริมด้านเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตและการแข่งขัน ทั้ง E-Public Services , Critical Infrastructure , Cyber Security , Green Technology และ Human Transformation ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจของ “สามารถ”
นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า ในปี 63 บริษัทคาดว่าจะเข้าประมูลงานมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานภาครัฐ โดยที่ปัจจุบันสัดส่วนงานของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่เป็นรายได้ของบริษัทมีสัดส่วนอยู่ 75% และส่วนที่เหลืออีก 15% จะเป็นงานของภาคเอกชน ซึ่งการเข้าประมูลงานใหม่ในปีนี้บริษัทคาดหวังจะได้งานเข้ามาราว 60-70% ของมูลค่างานที่เข้าประมูล
โดยกลยุทธ์ของบริษัทในปี 63 ยังคงรุกงานโครงการของภาครัฐมากขึ้น เนื่องจากบริษัทมองหาโอกาสในช่องทางที่มีการใช้เม็ดเงินลงทุนออกมา ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งในประเทศไทยภาครัฐมีแผนนโยบายและสนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีมาตั้งแต่ปี 62 แต่การเบิกจ่ายงบประมาณได้เกิดความล่าช้ามาตั้งแต่ปลายปีก่อน และหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอนุมัติงบประมาณปี 63 เสร็จสิ้นไปเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทคาดว่าจะเริ่มการประมูลงานโครงการด้าน ICT ของภาครัฐคาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. และจะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นโอกาสที่บริษัทจะเข้าไปรุกงานโครงการด้าน ICT ของภาครัฐมากขึ้นในปี 63
ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน