สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 11 มี.ค. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 11 มี.ค. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทรุดตัวลงกว่า 1,400 จุดเมื่อคืนนี้ (11 มี.ค.) โดยตลาดเข้าสู่ “ภาวะหมี” เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 หลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศว่า ไวรัสโควิด-19 ได้เข้าสู่ภาวะแพร่ระบาดไปทั่วโลกแล้ว นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการที่คณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ล่าช้าในการแถลงรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 23,553.22 จุด ลดลง 1,464.94 จุด หรือ -5.86% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,741.38 จุด ลดลง 140.85 จุด หรือ -4.89% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,952.05 จุด ลดลง 392.20 จุด หรือ -4.70%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (11 มี.ค.) แตะระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน โดยปรับตัวลงติดต่อกันเป็นวันที่ 5 แล้ว เนื่องจากนักลงทุนยังคงเทขายหุ้นออกมา ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ และองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศว่า ไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ภาวะการระบาดทั่วโลก (pandemic) แล้ว ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ได้ช่วยหนุนตลาดเพียงระยะสั้นๆ ในช่วงแรก
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.74% ปิดที่ 333.17 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,610.25 จุด ลดลง 26.36 จุด, -0.57%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 10,438.68 จุด ลดลง 36.81 จุด, -0.35% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,876.52 จุด ลดลง 83.71 จุด, -1.40%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (11 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และรัฐบาลอังกฤษเปิดเผยแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 3 หมื่นล้านปอนด์ (3.9 หมื่นล้านดอลลาร์) ก็ตาม
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,876.52 จุด ลดลง 83.71 จุด หรือ -1.40%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (11 มี.ค.) หลังจากสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการที่ซาอุดีอาระเบียประกาศแผนเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 1.38 ดอลลาร์ หรือ 4% ปิดที่ 32.98 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 1.43 ดอลลาร์ หรือ 3.8% ปิดที่ 35.79 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ (11 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเดินหน้าเทขายทำกำไรหลังจากราคาทองคำพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงรอความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐ
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 18 ดอลลาร์ หรือ 1.08% ปิดที่ 1,642.3 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. 2563
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 17.9 เซนต์ หรือ 1.06% ปิดที่ 16.776 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 1.2 ดอลลาร์ หรือ 0.14% ปิดที่ 868.2 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ดิ่งลง 88.10 ดอลลาร์ หรือ 3.8% ปิดที่ 2,229.30 ดอลลาร์/ออนซ์
เงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (11 มี.ค.) หลังจากธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกาศลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.50% เมื่อวานนี้ ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินบางสกุล หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.พ.ของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด
เงินปอนด์ร่วงลงแตะที่ระดับ 1.2837 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2912 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.1279 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1292 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.6497 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6486 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3772 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3738 ดอลลาร์แคนาดา แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 104.60 เยน จากระดับ 105.13 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9383 ฟรังก์ จากระดับ 0.9387 ฟรังก์