ฉงนหุ้นทั่วโลกดิ่งหนัก แต่ “ทอง” ทรุดเฉย! แถมดอลลาร์แข็ง-พันธบัตรมะกันถูกขายหนัก

ฉงนหุ้นทั่วโลกดิ่งหนัก แต่ “ทอง” ทรุดเฉย! แถมดอลลาร์แข็ง-พันธบัตรมะกันถูกขายหนัก


สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2563 จนถึงปัจจุบันนี้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 3,170 คน และตอนนี้เชื้อไวรัสก็กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วเกือบ 5,000 ราย และองค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) ประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic)

โดยความตื่นตระหนกและความกังวลของนักลงทุน ทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงจำพวกหุ้นออก ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกตกลงอย่างหนักจนเข้าสู่ตลาดหมี (ดัชนีปรับตัวลดลงเกินกว่า 20% จากจุดออลไทม์ไฮ)

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยปิดวานนี้ที่ระดับ 1,114.91 จุด ลบ 134.98 จุด หรือ 10.80% มูลค่าการซื้อขาย 1.02 แสนล้านบาท โดยระหว่างการซื้อขาย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ได้มีการใช้มาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์เพื่อหยุดการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว 30 นาที ตั้งแต่เวลา 14.38 น. ถึง 15.08 น. เพื่อให้นักลงทุนมีเวลาในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่มีผลกระทบต่อการลงทุนอย่างครบถ้วน

สำหรับการนำเซอร์กิตเบรกเกอร์มาใช้วานนี้ ถือเป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์ไทย หลังจากมีการใช้มาตรการนี้มาแล้ว 3 ครั้ง

โดยครั้งที่ 1 เมื่อ 19 ธ.ค. 2549 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 11.26 น. โดยดัชนีวันนั้นลดลงไป 74.06 จุด หรือ 10.14% เป็นผลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ หยุดทำการซื้อขายเป็นเวลา 30 นาที และหลังจากที่กลับมาซื้อขายอีกครั้ง ก็เกือบที่จะต้องพักการซื้อขายอีกรอบ เนื่องจากเพราะดัชนีร่วงลงไปต่ำสุดที่ 142.63 จุด หรือ 19.52%

สำหรับสาเหตุที่ลดลงเนื่องมาจากเย็นวันที่ 18 ธ.ค. 2549 นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการให้สถาบันการเงินที่รับซื้อหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจะต้องสำรองเงินตราต่างประเทศไว้ 30% เพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยเหตุการณ์ดังกล่าวมีชื่อเรียกกันว่า แบงก์ชาติ 100 จุด

ครั้งที่ 2 เมื่อ 10 ต.ค. 2551 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 14.35 น. โดยดัชนีวันนั้นลดลงไป 50.08 จุด หรือ 10.02% เป็นผลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ หยุดทำการซื้อขายเป็นเวลา 30 นาที

ครั้งที่ 3 เมื่อ 27 ต.ค. 2551 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 16.04 น. โดยดัชนีวันนั้นลดลงไป 43.29 จุด หรือ 10% เป็นผลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ หยุดทำการซื้อขายเป็นเวลา 30 นาที

โดยเหตุการณ์ 2 ครั้งหลังนี้มาจากสาเหตุเดียวกันก็คือวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ของสหรัฐอเมริกา หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์

อนึ่ง สถิติหุ้นไทยติดลบเกิน 100 จุด ได้แก่ วันที่ 7 ส.ค. 2533 ดัชนี SET ปรับตัวลดลง -175 จุด, วันที่ 12 ม.ค. 2537 ดัชนี SET ปรับตัวลดลง -117 จุด, วันที่ 19 ธ.ค. 2549 ดัชนี SET ปรับตัวลดลง -108 จุด, วันที่ 9 มี.ค. 2563  ดัชนี SET ปรับตัวลดลง -108 จุด และวันที่ 12 มีนาคม 2563 ดัชนี SET ปรับลดลง -134.98 จุด)

 

ทว่า การเทขายสินทรัพย์เสี่ยงในครั้งนี้ แตกต่างจากการขายเพื่อเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัยเหมือนทุกครั้งที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของการซื้อขายสินทรัพย์ เมื่อเกิดความเสี่ยงหรือความกังวลในตลาดทุน นักลงทุนจะขายสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ และเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ จึงเริ่มเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น ใหม่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่การขายสินทรัพย์เสี่ยงในครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมาคือ ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรก แต่ตลาดทองปรับลงแรงยิ่งกว่า เนื่องจากนักลงทุนต้องขายทองเพื่อไปชำระค่าหุ้น และกลายเป็นว่า ขณะนี้เงินไหลออกจากตลาดทุนอย่างรวดเร็ว และไม่ได้เข้าสู่ตลาดไหน นอกจากกระเป๋าของนักลงทุนเอง เนื่องจากในภาวะนี้ การถือเงินสดอาจเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุด จึงทำให้เงินดอลลาร์สหรัญแข็งค่าขึ้นสวนทุกสกุลเงินบนโลก และการที่ US 10-Y Bond ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 0.761% หรือลดลง 0.088 เป็นการตอกย้ำทฤษฎีนี้เป็นอย่างดี

โดยดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทรุดตัวลงกว่า 2,000 จุดเมื่อคืนนี้ (12 มี.ค.) ทำสถิติดิ่งลงหนักสุดนับตั้งแต่ตลาดวอลล์สตรีทเผชิญวิกฤต “แบล็คมันเดย์” เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2530 โดยภาวะการซื้อขายเต็มไปด้วยความตื่นตระหนก หลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศระงับการเดินทางจากประเทศในยุโรปเข้าสู่สหรัฐ ซึ่งมาตรการดังกล่าวยิ่งเพิ่มความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไวรัสโควิด-19 และได้ฉุดหุ้นกลุ่มสายการบินดิ่งลงอย่างหนัก

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 21,200.62 จุด ดิ่งลง 2,352.60 จุด หรือ -9.99% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,480.64 จุด ลดลง 260.74 จุด หรือ -9.51% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,201.80 จุด ลดลง 750.25 จุด หรือ -9.43%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดดิ่งลงเมื่อคืนนี้ (12 มี.ค.) โดยทรุดตัวลง 11.5% รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แม้รัฐบาลและธนาคารกลางต่างๆ ได้ออกมาตรการเพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ตาม ขณะที่หุ้นกลุ่มสายการบินร่วงลงหนักที่สุด หลังสหรัฐประกาศห้ามการเดินทางจากยุโรป

ดัชนี Stoxx Europe 600 ดิ่งลง 11.48% ปิดที่ 294.93 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,044.26 จุด ร่วง 565.98 จุด หรือ -12.28%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 9,161.13 จุด ร่วง 1,277.55 จุด หรือ -12.24% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,237.48 จุด ร่วง 639.04 จุด หรือ -10.87%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดดิ่งลงเมื่อคืนนี้ (12 มี.ค.) สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2555 และเป็นการร่วงลงวันเดียวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2530 ขณะที่การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไม่สามารถช่วยคลายความวิตกของตลาดเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ การที่สหรัฐสั่งห้ามการเดินทางจากยุโรปได้เพิ่มความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุนด้วย

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,237.48 จุด ร่วง 639.04 จุด หรือ -10.87%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงกว่า 4% เมื่อคืนนี้ (12 มี.ค.) หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศระงับการเดินทางจากประเทศในยุโรปเข้าสู่สหรัฐ ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 1.48 ดอลลาร์ หรือ 4.5% ปิดที่ 31.50 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ค. ดิ่งลง 2.57 ดอลลาร์ หรือ 7.2% ปิดที่ 33.22 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 3% เมื่อคืนนี้ (12 มี.ค.) เนื่องจากการทรุดตัวของตลาดหุ้นส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลและตัดสินใจเทขายทองคำเพื่อถือเงินสดเอาไว้ โดยตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงอย่างหนัก หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศระงับการเดินทางจากประเทศในยุโรปเข้าสู่สหรัฐ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 52 ดอลลาร์ หรือ 3.17% ปิดที่ 1590.3 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2563

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 77.1 เซนต์ หรือ 4.60% ปิดที่ 16.005 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 86.40 ดอลลาร์ หรือ 9.95% ปิดที่ 781.8 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 314.40 ดอลลาร์ หรือ 14.1% ปิดที่ 1,914.90 ดอลลาร์/ออนซ์

สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (12 มี.ค.) หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมเมื่อวานนี้

ยูโรอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.1177 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1279 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2581 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2837 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 0.6322 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6497 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.18 เยน จากระดับ 104.60 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9456 ฟรังก์ จากระดับ 0.9383 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3845 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3772 ดอลลาร์แคนาดา

Back to top button