การรีบาวด์อันเปราะบาง
ท่ามกลางมาตรการ “วัวหาย ค่อยล้อมคอก” ของรัฐบาลชาติต่าง ๆ ที่ออกมา เพื่อรับมือการแพร่ระบาดครั้งร้ายแรงของเชื้อไวรัสโคโรนา มีคำถามว่าตลาดหุ้น กับเศรษฐกิจไทยจะ “พ้นพงหนาม” ได้เมื่อใด
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
คำตอบคงต้องมีบางส่วนแยกกัน และบางส่วนไปด้วยกัน
ส่วนที่แยกจากกัน ก็คือเมื่อรัฐบาลต่าง ๆ ทุ่มเทเงินงบประมาณและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ (แม้จะลองผิดลองถูก) ก็เชื่อได้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสน่าจะเริ่มหยุดยั้งลง แม้จะไม่หายขาดทั้งหมดในเร็ววัน เรียกว่าเข้าข่ายควบคุมสถานการณ์ได้ จากประเทศหนึ่งเป็นหลายประเทศและทั่วโลก
กรณีของจีนที่ประกาศก่อนใครว่าสามารถพ้นจุดสูงสุดของการแพร่ระบาดไปแล้วเป็นตัวอย่างได้ดี
นั่นหมายความว่าตลาดหุ้นที่ซึมซับข่าวร้ายน่าจะได้รับผลดีแบบทยอยกันไป กรณีตลาดหุ้นไทยที่ดัชนีสามารถยืนเหนือ 1,000 จุดไว้ได้สัปดาห์นี้ถือเป็นตัวอย่างที่ว่าแนวรับที่ระดับนี้ค่อนข้างแข็งแกร่ง
เพียงแต่ความแข็งแกร่งของแนวรับนี้ มีเงื่อนไขกำกับว่ารัฐบาลและรัฐไทยสามารถรับมือจัดการกับการแพร่ระบาดได้มีประสิทธิผลดีแบบประเทศที่เป็นตัวอย่างด้านบวก
การที่กระทรวงสาธารณสุขมีการ “ฉายภาพ” หรือ scenario ออกมาว่าการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายนี้ในไทยจะขึ้นสู่จุดสูงสุดในเดือนสิงหาคมปีนี้ จากนั้นจะลดลง เป็นภาพที่ไม่ดีเอาเสียเลย สะท้อนว่าหากรัฐไทยทำอะไรได้เท่าที่ทำมาในลักษณะ “วัวหาย ค่อยล้อมคอก” แล้ว ผลกระทบเชิงลบทางเศรษฐกิจของประเทศไทย น่าจะเกิดขึ้นไปจนถึงสิ้นไตรมาสที่สี่ของปีเลยทีเดียว
ภาพอันน่าสยดสยองทางเศรษฐกิจไทยนี้ สอดรับกับคำเตือนก่อนหน้านี้ของดร.วีรพงษ์ รามางกูร ที่เคยบอกว่า “ปีนี้ เผาจริง” และยังสอดรับกับคำพยากรณ์ของ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่บอกว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยปีนี้มีแนวโน้มที่จะติดลบ และมีความเสี่ยงที่จะเกิดมากขึ้นตามลำดับ ทำให้ประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เดิมที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อปลายปีที่แล้วที่ระดับ 1.8% มีแนวโน้มจะปรับลดลงจากระดับนี้ค่อนข้างมาก โดยที่ในไตรมาสแรกหรือครึ่งแรกของปีนี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเชิงเทคนิคแล้ว โดยที่ติดลบแน่ในไตรมาสแรก เกือบ 2%
ตรงนี้เข้าข่ายคำตอบที่สองว่า แม้ตลาดหุ้นจะสามารถหาแนวรับเจอเฉพาะหน้าที่เหนือ 1,000 จุดได้ แต่แนวต้านก็ยังมีอยู่เสมือนค่ายกลที่ขัดขวางการทะยานขึ้น เนื่องจากความเปราะบางในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะยังคงดำรงอยู่อีกหลายไตรมาส
โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยงโยงกัน “รายได้ร้อนๆ” อย่างการท่องเที่ยว สายการบิน ขนส่งโรงแรม ค้าปลีก บริการอื่น ๆ จะได้รับความเสียหายอย่างมาก ดังข้อมูลที่นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม-29 กุมภาพันธ์ 2563 นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยลดลง 40% และโดยเฉพาะจากจีนลดลง 81% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ผู้ว่าททท. ยังบอกอีกว่า ถ้าสถานการณ์เลวร้ายที่สุด คือ การท่องเที่ยวไทยจะได้รับผลกระทบ 6 เดือน หรือสิ้นสุดการแพร่ระบาดในเดือนเมษายน ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดต่ำที่สุดในเดือนพฤษภาคม จะใช้ระยะเวลาฟื้นตัวราว 3 เดือน ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเหลือ 30 ล้านคน หรือติดลบ 24% จาก 39.8 ล้านคนในปีก่อน และจะมีรายได้ราว 1.5-1.6 ล้านล้านบาท หรือหายไปประมาณ 4 แสนล้านบาท
ส่วนทางด้านการค้านั้น ข้อมูลเฉพาะหน้าจาก นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า สถิติการค้าชายแดนของไทย ในรอบต้นปี 2563 (ม.ค.) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 86,070 ล้านบาท ลดลง 10.76% แบ่งเป็นการส่งออก 59,501 ล้านบาท (ลดลง 9.44%) และการนำเข้า 26,569 ล้านบาท (ลดลง 13.57%)
ด้านข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า การระบาดของโควิด–19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศไทย โดย 12 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, เครื่องสำอาง, เคมี, โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, หัตถกรรมสร้างสรรค์, โรงเลื่อย โรงอบไม้, ไม้อัดไม้บาง และวัสดุแผ่น, อัญมณีและเครื่องประดับ, เทคโนโลยีชีวภาพ, อาหาร และ สมุนไพร อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบปานกลาง 9 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์, เครื่องปรับอากาศ, สิ่งทอ, เซรามิก, แก้วและกระจก, ยา, เหล็ก, หนังและผลิตภัณฑ์หนังและ ต่อเรือซ่อมเรือ
หุ้นของบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมภาคที่เอ่ยถึงข้างต้น ย่อมได้รับความเสียหายอย่างเลี่ยงไม่พ้น
การรีบาวด์ของดัชนีตลาดหุ้นไทยภายหลังจากร่วงลงมากว่า 50% นับแต่ในวันที่มีข่าวพบผู้ป่วยรายแรกในไทยเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 มาปิดอยู่ที่ 1,048.15 จุด ณ วันที่ 18 มีนาคม 2563 อันเป็นแนวรับสำคัญ จึงถือว่าค่อนข้างเปราะบางและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ขึ้นกับเงื่อนไขในประเทศว่าสามารถรับมือ และไม่ยอมให้เกิดกระบวนการแพร่ระบาดซ้ำขึ้นมาได้ดีแค่ไหน
หากมองจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจมวลรวมแล้ว การแกว่งตัวของดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้นับจากนี้ไป น่าจะไหวเอนดุจสนต้องลมไปกับข่าวแพร่ระบาดของไวรัสนี้เป็นสำคัญ โดยมีตัวแปรสำคัญที่น่าจะช่วยให้ตลาดมีข่าวดีบ้างคือหุ้นกลุ่มพลังงานในกรณีที่ราคาน้ำมันดิบกลับคืนไปยืนเหนือ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้อีกครั้ง หรือหุ้นสื่อสารที่มีบริการ 5G มาช่วยเสริมรายได้และกำไรระลอกใหม่
พ้นจากนี้ไปแล้ว ความคาดหวังว่าดัชนีตลาดจะกลับรีบาวด์ขึ้นไปเหนือ 1,500 จุด ครั้งใหม่โดยเร็วน่าจะเป็น “ฝันกลางวันในฤดูฝน”
โอกาสที่จะเห็นภาวะร่วงสลับรีบาวด์น่าจะเป็นทิศทางหลักสำหรับปีนี้
คนที่สามารถรอดไปได้ นอกจากเก่ง และเฮง แล้วยังต้องมีเงินสดติดมือเสริมสภาพคล่องให้เพียงพอ ลืมขบวนการเทรดด้วยบัญชีมาร์จิ้น หรือ บล็อกเทรดไปได้เลยอย่างน้อยก็จนถึงไตรมาสสี่ปีนี้