เช็กด่วน! ข้อห้ามปฏิบัติ หลัง “นายกฯ” ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สู้ “โควิด-19”
เช็กด่วน! ข้อห้ามปฏิบัติ หลัง “นายกฯ” ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สู้ “โควิด-19” ก่อนมีผล 26 มี.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยกระดับการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.63 นั้น หลายคนอยากรู้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีห้ามอะไรบ้าง ทีมข่าวข่าวหุ้นออนไลน์ จึงได้ประมวลมาให้อ่านกัน
พระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษแก่รัฐบาลในการควบคุมสถานการณ์ที่อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือประเทศ ประกาศใช้เมื่อปี 2548 ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยประกาศเป็น “พระราชกำหนด” ไม่ใช่ “พระราชบัญญัติ” เพราะไม่ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร
โดยสถานการณ์ฉุกเฉินที่กำหนดใน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในระดับสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วไป มีข้อกำหนดเพื่อให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขคลี่คลาย ดังต่อไปนี้
ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น เช่น ทูตหรือผู้แทนต่างประเทศหรือระหว่างประเทศ
ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ
ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร
ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด