ระเบิดเวลาจากเฟดพลวัต2015

นับจากนี้ไป ค่าดอลลาร์คือระเบิดเวลาลูกใหม่ของตลาดหุ้นไทย


นับจากนี้ไป ค่าดอลลาร์คือระเบิดเวลาลูกใหม่ของตลาดหุ้นไทย

ที่สรุปเช่นนี้ง่ายนิดเดียว เพราะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดหรือธนาคารกลางสหรัฐจะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ ค่อนข้างชัดเจนแล้ว

นายเดนนิส ล็อกฮาร์ท ประธานเฟดสาขาแอตแลนต้า ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน FOMC ของเฟดที่มีสิทธิโหวตในคณะกรรมการการเงิน FOMC ในปีนี้ ให้สัมภาษณ์  (ข้อเท็จจริงคือโยนหินถามทาง) ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯมีความพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนนี้ โดยระบุถึงขั้นว่า ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯจะต้องย่ำแย่อย่างรุนแรงมาก ถึงจะทำให้เขาไม่ลงมติสนับสนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกันยายน

ระเบิดเวลาเช่นนี้ เปลี่ยนไปจากท่าทีของกรรมการ FOMC  2 ครั้งล่าสุดที่มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง “นักอ่านริมฝีปากของเฟด” ในวอลล์สตรีทตีความว่า เป็นการส่งสัญญาณล่วงหน้าที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุม FOMC เดือนหน้า

แม้ว่าตลาดหุ้นเอเชียวานนี้จะไม่ขานรับในทันที เพราะมัวตื่นเต้นกับตัวเลขดัชนี PMI ของจีนที่ดีเกินคาด แต่ตลาดเงินทั่วโลกขานรับไปแล้ว โดยดอลลาร์ขยับแข็งค่าขึ้นทันทีเทียบกับเงินเยนมาที่ระดับ 124.40 เยน และผลตอบแทนพันธบัตรของญี่ปุ่นหรือบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีปิดบวกตามทิศทางของตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ เนื่องจากนักลงทุนเทขาย

ค่าดอลลาร์แข็ง ไม่เคยเป็นผลดีกับดัชนีตลาดหุ้นไทยมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ประหนึ่งความสัมพันธ์ระหว่างงู กับ เชือกกล้วย ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีข่าวเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อนั้นหุ้นไทยจะร่วงแรง จากการที่ต่างชาติจะถอนตัวจากตลาดหุ้นไทยรุนแรง

ครั้งสุดท้ายที่ค่าดอลลาร์แข็งและบาทอ่อนแรง เกิดขึ้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาปีนี้นี่เอง หลังเฟดประกาศว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นร่วงลงต่อเนื่องทั้งเดือนจากระดับเหนือ 1,600 จุด มาใต้แนวรับ 1,490 จุด แล้วกลับตัวรีบาวด์ขึ้นไป เมื่อเฟดตัดสินใจรีรอซื้อเวลาดูข้อมูลให้รอบคอบ

หลายเดือนมานี้ คณะกรรมการเฟดพยายามยื้อเวลาเพื่อให้มั่นใจว่า การจ้างงานและเป้าหมายเงินเฟ้อจะบรรลุเป้า ท่ามกลางแรงกดดันของคนที่รู้สึกว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำติดพื้นระดับ 0% ของเฟดนานเกิน ฝืนธรรมชาติของกลไกตลาด อาจนำไปสู่สภาวะฟองสบู่ของเศรษฐกิจ ทำนองเดียวกับที่เฟดยุค นายอลัน กรีนสแปน เคยกดดอกเบี้ยต่ำนานเกิน จนเป็นรากเหง้าของวิกฤตซับไพรม์มาแล้ว

มุมมองของตลาดเงินและตลาดทุนในสหรัฐฯปัจจุบัน ถือว่าขณะนี้ค่าดอลลาร์อ่อนเกินจริง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะแม้ดอลลาร์ต่ำจะช่วยให้การส่งออกสินค้าของสหรัฐฯดีขึ้น แต่ขีดจำกัดในการแข่งขันของภาคการผลิตสินค้า มีคุณูปการต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าความได้เปรียบในสินค้าบริการทางการเงินในตลาดโลก

ค่าดอลลาร์ที่ต่ำเกิน เปิดช่องให้ธุรกิจและชาติต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่น และจีน อาศัยประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯต่ำ กู้ยืมเงินจากตลาดในรูปดอลลาร์ทำกำไรผ่านแคร์รี่ เทรด และลดต้นทุนการเงินต่อเนื่องตลอดหลายปีนี้

ทางเลือกที่ดีกว่า ในมุมมองของวอลล์สตรีท และนักเศรษฐศาสตร์การเงิน คือ เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้ดอลลาร์แข็งขึ้น เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มฟื้นตัวจนถึงระดับที่เรียกว่า “มวลวิกฤต” เพื่อทำให้ชาติที่เคยชินกับ “โอกาส” ในการกู้ยืมเงินต้นทุนต่ำในรูปดอลลาร์ มาเผชิญกับ “ภาระ” แทน เพราะต้นทุนกู้เงินดอลลาร์จะแพงเกินจนไม่คุ้มอีกต่อไป แล้วจากนั้นชาติเหล่านั้น จะต้องเปลี่ยนสถานะของการถือเงินสกุลดอลลาร์ มาเป็นการเก็งกำไรแทน ทำให้สหรัฐฯสามารถครอบงำตลาดโลกได้เต็มที่

มุมมองและสถิติที่สนับสนุนแนวคิดนี้คือ มาตรการ QE ที่ยุโรปและญี่ปุ่นพิมพ์เงินออกมามหาศาลต่อปี มากกว่าที่เฟดเคยกระทำมา รวมถึงการพังทลายของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (โดยเฉพาะน้ำมัน และทองคำ) ทำให้การถือดอลลาร์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เป็นความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯเอง

ผลสะเทือนที่เป็นระเบิดเวลาล่วงหน้าในทำนอง “สายน้ำไม่ไหลกลับ” จากดอลลาร์ขาขึ้น แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2556 (ค่าดอลลาร์สูงเท่าใด ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะสวนทางผกผันมากกว่า) ที่ส่งผลรุนแรงต่อตลาดหุ้นนอกสหรัฐฯ จะเริ่มนับแต่บัดนี้ไป และอาจกินเวลานานหลายเดือนจนถึงอย่างน้อยต้นปีหน้า

ดอลลาร์แพงเท่าใด เศรษฐกิจสหรัฐฯจะแข็งแกร่งเพียงนั้น ประวัติยุคปลายของบิล คลินตัน บันทึกไว้ชัดเจน 

สถานการณ์ของตลาดหุ้นไทยปัจจุบัน ซึ่งตกอยู่ภายใต้แรงกดดันทางลบรุนแรงรอบด้าน นับแต่เศรษฐกิจย่ำแย่ เพราะตัวเลขส่งออกทรุด การลงทุนภาครัฐคืบหน้าช้ามาก กำลังซื้อในภาคเกษตรอ่อนแอ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเติบโตถดถอยลง รวมแล้วขาดสัญญาณหนุนเชิงบวกชัดเจน เป็นเชื้อไฟอย่างดีที่จะกดดันค่าบาทตกต่ำรุนแรงง่ายดาย

ค่าบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในสิ้นปีนี้ จะทะลุไปเหนือ 40 บาทต่อดอลลาร์ (ตามที่มีคนคาดเดา)หรือไม่ ขึ้นกับ “มโน” ของแต่ละคนจะจินตนาการเอาเอง ไม่สามารถคาดเดาได้ จนกว่าอนาคตจะเกิดขึ้น

แม้จะมีคนพยายามโต้แย้งว่า ยุคของดอกเบี้ยแพงจะไม่กลับมาให้เห็นอีกในยุคสมัยของเงินท่วมโลก แต่ค่าดอลลาร์แข็งในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน กับ อัตราดอกเบี้ยของเฟดไม่จำเป็นต้องมีสูตรตายตัวแบบบัญญัติไตรยางค์

ใครจะรอด ใครจะเป็นเหยื่อจากระเบิดเวลาของเฟดลูกล่าสุดนี้ อีกไม่นานคงได้รู้กัน

Back to top button