JMART ผนึกกำลังบ.ย่อยปรับกลยุทธ์รับมือโควิด-19 มั่นใจกำไรไตรมาส 1 โตแกร่ง
JMART ผนึกกำลังบ.ย่อยปรับกลยุทธ์รับมือโควิด-19 มั่นใจกำไรไตรมาส 1 โตแกร่ง
นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART เปิดเผยถึงสถานการณ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อหลายภาคธุรกิจ โดยกลุ่มเจมาร์ทไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งปรับแผนแก้เกมรับมือสถานการณ์ดังกล่าวอย่างเข้มข้น โดยมีแต้มต่อจากการผนึกกำลัง Synergy ร่วมกันของบริษัทในเครือ ช่วยสนับสนุนทั้งในด้านการขายสินค้ามือถือ และอุปกรณ์เสริมผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมรับมือสถานการณ์ในช่วงต่อจากนี้ ตอกย้ำช่องทางค้าปลีกที่เข้มแข็ง และมีธุรกิจการเงินที่เป็นฐานกำไรสำคัญ
โดย บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ยังคงสร้างผลประกอบการได้อย่างโดดเด่นสุด ทิศทางการจัดเก็บหนี้สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จากพอร์ตบริหารหนี้สะสมในปัจจุบันอยู่ที่ 177,000 ล้านบาท ขณะที่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER สามารถเพิ่มยอดขาย เป็นโอกาสทางธุรกิจแม้ในยามวิกฤตเช่นนี้ได้ ทั้งสองบริษัทย่อยนี้จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการประกาศปิดห้างสรรพสินค้าของรัฐบาล
นอกจากนี้ บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และแอพพลิเคชันทางด้านฟินเทค ธุรกิจยังเดินหน้าได้ตามปกติ แม้โดยภาพรวมมีผลกระทบบ้างกับธุรกิจมือถือ และสินค้าเทคโนโลยีของ บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด และ บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัท บีนส์แอนด์บราวน์ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารและกาแฟ ที่ปฏิบัติตามมาตรการปิดห้างเพื่อลดความเสี่ยงจากโควิด-19 จึงได้ปรับกลยุทธ์ทำให้ผลกระทบดังกล่าวลดลง และสร้างโอกาสในการขยายช่องทางการจำหน่ายมายังออนไลน์ รวมทั้งเน้นการ Synergy กันมากขึ้น
“ช่วงเวลาที่ผ่านมาเกือบไตรมาส บริษัทที่เป็นหัวหอกในการทำธุรกิจของกลุ่มเจมาร์ท คือ เจเอ็มที เราคาดว่าผลงานน่าจะเติบโตกว่าไตรมาส 1 ของปีที่แล้ว คนยังชำระหนี้อยู่ และมีโอกาสซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารได้มากขึ้น ขณะที่ ซิงเกอร์สามารถทำผลงานได้ดีขึ้นเช่นกัน แอร์ยังคงดันยอดขายให้ต่อเนื่อง และเป็นช่วงเวลาที่พลัง Synergy ของกลุ่มเจมาร์ท ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
โดยในสภาวะการณ์ที่ต้องปฎิบัติตามนโยบายของภาครัฐนั้น บริษัทสามารถปรับเกมธุรกิจโดยให้พนักงานหน้าร้านที่ต้องปิดตามนโยบายภาครัฐส่วนหนึ่งเข้ามาทำงานในส่วนงานของธุรกิจติดตามหนี้ของ JMT เพื่อเพิ่มกระแสเงินสดให้กับบริษัทย่อย เสริมศักยภาพในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท
สำหรับในด้านสถานะการเงิน บริษัทได้วางแผนกระแสเงินสดล่วงหน้าไว้แล้วทั้งปี 2563 นี้ โดยปัจจุบันเจมาร์ท มีเงินสดมากกว่า 500 ล้านบาท และส่วนของเจเอ็มที ก่อนหน้านี้ต้นเดือนมีนาคมได้ระดมทุนจากการออกหุ้นกู้ไปกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมกระแสเงินสดที่เจเอ็มที จัดเก็บได้แต่ละเดือน ซึ่งเพียงพอต่อการจ่ายชำระหนี้คืนให้กับสถาบันการเงิน และหุ้นกู้ที่ครบกำหนด
“เจมาร์ทให้ความสำคัญกับช่องทางผ่าน Synergy ของบริษัท เรามีทรัพยากร และช่องทางการจำหน่ายบริษัทอื่นๆ หรือคู่แข่งไม่มี และในสถานการณ์ปัจจุบัน เราได้รุกการขายสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น รวมถึงใช้ช่องทางการขายของ ซิงเกอร์ที่มีช่องทางการขายทั่วประเทศ รับมือสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้ง ภาพวันนี้ถือว่าเป็นการสะท้อนแผน Synergy ผลิตภัณฑ์ภายในกลุ่มเจมาร์ท เพื่อจัดการกับสถานะการณ์วิกฤตินี้อย่างแข็งแรง”