“คลัง” คิกออฟเว็บไซต์“เราไม่ทิ้งกัน”เปิดลงทะเบียนรับสิทธิ์เยียวยา “โควิด-19” 28 มี.ค.นี้
“คลัง” คิกออฟเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” เปิดลงทะเบียนรับสิทธิ์เยียวยา “โควิด-19” 28 มี.ค.นี้
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความพร้อมของมาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือมาตรการเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน)
โดยเป็นมาตรการภายใต้ชุดมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด -19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงทางอ้อม ระยะที่ 2 ว่า กระทรวงการคลังจะเปิดให้แรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด- 19 เข้าลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 มี.ค. 63 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ตลอด 24 ชั่วโมง
“จะทำการเปิดให้ลงทะเบียนไปเรื่อยๆ ไม่ได้จำกัด ซึ่งตรงนี้แตกต่างกับมาตรการชิมช้อปใช้ที่กำหนดว่าจะรับกี่คน เพราะขณะนี้เป็นภาวะวิกฤตที่ต้องการดูแลประชาชน จึงไม่ได้จำกัดระยะเวลา และจำกัดจำนวนคน ดังนั้นจึงอยากขอให้ประชาชนที่เข้าข่ายไม่จำเป็นต้องแข่งกันเข้ามาลงทะเบียน เพราะโครงการจะเปิดตลอด 24 ชั่วโมงเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน” นายอุตตม กล่าว
ทั้งนี้ ขอให้ผู้ที่มาลงทะเบียนใช้โทรศัพท์มือถือที่สามารถติดต่อได้ เพื่อระบบจะได้แจ้งผลการลงทะเบียนและสิทธิตามมาตรการผ่านทางข้อความ (SMS) โดยในส่วนของการรับเงินเยียวยาจะสามารถรับได้ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ บัญชีธนาคารที่ชื่อและนามสกุลเจ้าของบัญชีตรงกับชื่อและนามสกุลที่นำมาลงทะเบียน หรือพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน
นายอุตตม กล่าวว่า มาตรการเยียวยา 5,000 บาทนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทุกคน ดังนั้น หากผู้ลงทะเบียนและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติมีจำนวนมากกว่า 3 ล้านคน กระทรวงการคลังก็พร้อมจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมต่อไป หากไม่สามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ด้วยตนเอง ให้ขอความช่วยเหลือจากบุคคลใกล้ชิดในการช่วยลงทะเบียนออนไลน์ โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทะเบียนออนไลน์ได้ที่ Call Center ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หมายเลขโทรศัพท์ 02-111-1144
สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดจะได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยระบบจะสามารถดำเนินการให้จ่ายเงินเยียวยาเข้าบัญชีได้เร็วสุดภายใน 7 วันทำการ
ส่วนกรณีที่โลกโซเชียลมีการเผยแพร่ประกาศที่อ้างว่าเป็นประกาศของธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน ซึ่งระบุว่าไม่รับลงทะเบียนให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐผู้สูงอายุนั้น นายอุตตม กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวไม่ใช่ของจริง ดังนั้นการถือบัตรสวัสดิการหรือไม่ คนละประเด็น รัฐบาลแยกออกไป จะมีบัตรหรือไม่มีบัตรสวัสดิการก็ได้ ยืนยันว่าประกาศนั้นเป็นเฟคนิวส์
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เมื่อได้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว ระบบจะส่งข้อมูลกลับไปแจ้งผลการตรวจสอบผ่านหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ลงทะเบียนไว้ภายใน 7 วัน
โดยจะแบ่งเป็น 3 กรณี คือ 1.กรณีที่ได้รับสิทธิ์ไม่มีปัญหาก็จะส่ง SMS ยืนยันว่า ท่านได้รับสิทธิ์ และระบบจะโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์หรือบัญชีธนาคารที่ลงทะเบียนไว้ 2.รายที่ไม่ได้รับสิทธิ์ก็จะแจ้งสาเหตุว่าไม่ได้รับสิทธิ์เพราะเหตุใด เช่น อยู่ในฐานข้อมูลประกันสังคม เป็นต้น และ 3.รายที่ต้องขอข้อมูลเพิ่มเติมก็จะระบุข้อมูลที่ต้องยื่นเพิ่มพร้อมช่องทาง
ทั้งนี้ ในรายที่ถูกปฏิเสธการรับสิทธิ์ ระบบจะสามารถให้อุทธรณ์เพื่อขอรับสิทธิ์ว่าข้อมูลที่ตรวจสอบมีความผิดพลาดในส่วนไหน และจะส่งเป็น SMS พร้อมช่องทางยื่นเอกสารหลักฐานให้ตรวจสอบเพิ่มเติมเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม อาชีพอิสระไม่ได้จำกัดว่าเป็นอาชีพใดบ้าง ที่ห้ามคือจะต้องไม่อยู่ในระบบประกันสังคมเท่านั้น จะเป็นเกษตรกร ผู้ถือบัตรคนจน ผู้ขับรถแท็กซี่ หรือหาบเร่แผงลอยก็ได้ โดยระบบจะมีฐานข้อมูลหลายแห่งว่าได้รับสิทธิ์ และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจริงหรือไม่ เช่น กลุ่มขับแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง จะต้องมีใบขับขี่รถโดยสารสาธารณะ ส่วนหาบเร่ แผงลอย จะใช้ข้อมูลที่เคยมาขึ้นทะเบียนกับธนาคารออมสิน เป็นต้น
“ไม่ได้ปิดกั้น ทุกคนสามารถลงทะเบียนได้ แต่ต้องไม่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 และได้รับผลกระทบจริงๆ ซึ่งคนที่มาลงทะเบียนทั้งหมดจะมีระบบตรวจสอบความถูกต้องจากข้อมูลที่ได้ลงทะเบียนมา คือ ไม่มีงานทำ ตกงาน ค้าขายไม่ดี นั่นคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ใช่ว่าลงทะเบียนแล้วจะได้ทุกคน ลงทะเบียนแล้วรอรับเงิน ถ้ามีการตรวจสอบแล้วพบว่าข้อมูลเป็นของปลอมระบบจะทำการตัดข้อมูลออกทันที ดังนั้นจึงอยากชี้แจงว่า ถ้ารู้ตัวว่าไม่ตรงกับเงื่อนไข 3 ข้อที่กำหนด อย่ามาลงทะเบียน อย่ามาลงแบบเผื่อฟลุ้คจะได้ นาทีนี้ต้องช่วยกัน คนที่เดือดร้อนจะได้รับการช่วยเหลือจริงๆ” นายลวรณ กล่าว
ขณะที่นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการ KTB กล่าวว่า ขั้นตอนการลงทะเบียนในวันที่ 28 มี.ค. 63 สำหรับผู้ที่ขอรับเงินช่วยเหลือ ต้องเข้าไปที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com จากนั้นอ่านข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์ และกดปุ่มลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินชดเชยรายได้ และจะเข้าสู่หน้าเพจ ให้กรอกข้อมูลผู้ลงทะเบียน ซึ่งในขั้นตอนนี้ต้องกรอกข้อมูลตามข้อเท็จจริง โดยเสนอให้ใส่หมายเลขโทรศัพท์มือถือจะดีที่สุด เพื่อการสะดวกในการติดต่อกลับ และให้เลือกช่องทางการรับเงิน ซึ่งมี 2 ทางเลือก คือ โอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ หรือโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร จากนั้นกดปุ่มยืนยันข้อมูล
ต่อจากนั้น ระบบจะเข้าสู่อีกหน้าเพจข้อมูลการประกอบอาชีพ แบ่งเป็น กรณีมีนายจ้าง ให้กรอกข้อมูลนายจ้างเพิ่มเติม ส่วนกรณีที่ไม่มีนายจ้างให้ชี้แจงว่าประกอบอาชีพอะไร และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างไร เช่น กระทบเรื่องรายได้ลดลง ปิดกิจการ เลิกจ้าง และอื่น ๆ และกดปุ่มยืนยัน หลังจากนั้นตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดอีกครั้ง ถือเป็นการเสร็จสิ้นการลงทะเบียน
อย่างไรก็ดี ระบบจะสามารถรองรับปริมาณธุรกรรมในการลงทะเบียน 58,000 รายการต่อวินาที โดยไม่จำเป็นต้องไปที่สาขาของธนาคาร เพียงแค่เข้าไปลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ ผ่านมือถือ หรือคอมพิวเตอร์ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือขออำนวยความสะดวกผ่านคอลเซ็นเตอร์ ดังนั้นการไปที่สาขาขอให้เป็นทางเลือกสุดท้าย เพื่อไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19