‘ยิ่งกว่าต้มยำกุ้ง’
แม้ไม่มีโควิด-19 มีแต่สงครามการค้า และ “กระทงหลงทาง” ในการบริหารกิจการบ้านเมือง เศรษฐกิจไทยก็ย่ำแย่เอาการอยู่แล้ว มาเจอมหันตภัยไวรัสสายพันธุ์ใหม่อันดุร้ายที่สุด เศรษฐกิจไทยที่เปราะบางอยู่แล้ว ก็จอดป้ายสิครับ
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
แม้ไม่มีโควิด-19 มีแต่สงครามการค้า และ “กระทงหลงทาง” ในการบริหารกิจการบ้านเมือง เศรษฐกิจไทยก็ย่ำแย่เอาการอยู่แล้ว มาเจอมหันตภัยไวรัสสายพันธุ์ใหม่อันดุร้ายที่สุด เศรษฐกิจไทยที่เปราะบางอยู่แล้ว ก็จอดป้ายสิครับ
ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่รอให้ถึงกลางปีค่อยทำนายเศรษฐกิจ แต่บอกกันแต่ไก่โห่เลยว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบ5.3% อันจะเป็นการติดลบที่รุนแรงกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เสียอีก
ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงินแบงก์ชาติ ระบุปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจไทย มาจากสถานการณ์ของโควิด-19 อันส่งผลต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว
“คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะหดตัวราวร้อยละ 60 และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลกจะชะลอตัวแรง หรืออาจถึงขั้นหดตัวในหลายประเทศ”
ครับ ดูแล้วก็มืดมน แต่ก็ต้องชมเชยแบงก์ชาติที่กล้าพูดความจริง เพื่อจะได้คิดแผนฟื้นฟูเยียวยากันเสียแต่บัดนี้ ไม่ใช่เอาแต่หลอกตัวเอง หรือคุยโม้โอ้อวดไปวัน ๆ
มาตรการที่ได้เยียวยากันไปแล้ว ก็มีทางฝั่งตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.ก็ได้ร่วมกับกระทรวงการคลัง แบงก์ชาติ สมาคมธนาคารไทย และสมาคมบลจ. จัดตั้งกองทุนรับมือการแห่ไถ่ถอนตราสารหนี้ขึ้นมา
ก็พอจะดับความแตกตื่นลงได้แล้วนะ สถานการณ์ปัจจุบันก็ดูจะนิ่งแล้ว
ในส่วนความรับผิดชอบของแบงก์ชาติเอง เมื่อตระหนักรู้แล้วว่า เศรษฐกิจปีนี้จะติดลบกว่า 5% ก็เร่งออกมาตรการมาผ่อนคลายความเดือดร้อนของประชาชน
ทั้งอุ้มลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล เช่าซื้อ กู้บ้าน ลดดอกเบี้ย และธุรกิจ SME มีทั้งพักจ่ายเงินต้น และยืดเวลาชำระหนี้
ในส่วนของรัฐบาลเอง ที่พอจะดูเป็นเนื้อเป็นหนังในชั้นนี้ ก็เห็นจะมีแต่มาตรการดูแลแรงงานลูกจ้างและอาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม เป็นเงิน 5,000 บาทต่อคน เป็นเวลา 3 เดือน หรือ 15,000 บาท คาดว่าจะมีแรงงานกลุ่มนี้ได้รับความช่วยเหลือประมาณ 3 ล้านคน
ตรงนี้รัฐต้องเตรียมเงินช่วยเหลือประมาณ 45,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ก็ยังมีมาตรการที่รัฐบาลไม่ต้องควักเงินเอง แต่ให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐได้แก่ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน และธอส.ช่วยปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ประชาชน รวมทั้งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจำนำทรัพย์
มาตรการที่รัฐบาลไม่ได้ควักเงินช่วยออกมาอีกโครงการหนึ่งก็คือ การสั่งปรับลดอัตราจ่ายเงินประกันสังคม ซึ่งแต่เดิมลูกจ้างจ่าย 5% นายจ้างจ่ายสมทบอีก 5% รัฐบาลสมทบแค่ 1% มั๊ง แถมยังติดค้างหนี้ ไม่ยอมจ่ายอีก
มาเป็นลูกจ้างจ่ายแค่ 1% นายจ้างสมทบแค่ 4% ส่วนรัฐบาลจะสมทบจ่ายเท่าไหร่ ไม่มีรายงานบอกมา
มาตรการเยียวยาทั้งหลายที่ว่ามา ผมว่า รัฐบาลควักเงินจ่ายน้อยไปหน่อย เท่าที่เห็นก็มีแค่รายการเดียว คือ แรงงานนอกระบบประกันสังคมในราว 4.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น นอกนั้นก็เป็นรายการทอดกฐิน ผ้าป่า เที่ยวให้หน่วยงานรัฐต่าง ๆเป็นผู้แบกรับ
งานใหญ่อย่างโควิด-19 ซึ่งก็ยังไม่รู้จุดจบการแพร่ระบาดอย่างนี้ มันต้องใช้คิว-อีหรือการอัดฉีดสภาพคล่องขนาดใหญ่ ที่ไม่จำกัดทั้งวงเงินและเวลา แบบเดียวกับที่อเมริกาและยุโรปทำ จึงจะเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้
รัฐบาลเที่ยวเอาแต่ขึ้นเฮลิคอปเตอร์โปรยเงินมาเป็นล้านล้านบาท แต่สิ่งที่ไม่คิดจะทำกันเลยก็คือ การลดหย่อนภาษีประเภทต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนรวมทั้งผู้ประกอบการ
ในภาวะมีแต่ความพินาศคาตาให้เห็นในบ้านเมืองเช่นนี้ รัฐบาลควรคิดทบทวนในเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวตจะลดลงได้ไหม ทำไมยังต้องเป็น 7% สมควรจะลดลงมาเป็น 3% หรือ 4% ได้ไหม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน และลดภาระต้นทุนผู้ประกอบการ
ภาษีเงินได้นิติบุคคล สมควรจะลดราวาศอกลงมาเป็น 15% ได้ไหม จากอัตราจัดเก็บในปัจจุบันที่ร้อยละ 20
ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน นี่ก็กินนิ่มกันมาช้านานลิตรละ 6 บาท บัดนี้บ้านเมืองเกิดทุพภิกขภัย ก็ควรจะลดราวาศอกลงมาสัก 3 บาท เพื่อจะลดราคาน้ำมันลงอีก 3 บาท นอกเหนือจากการลดลงตามกลไกตลาดได้ไหม
เอะอะอะไรก็เอาแต่อ้างรัฐบาลไม่มีตังค์ แต่ทีเอาไปซื้อเรือดำน้ำ เรือเหาะ รถหุ้มเกราะ ไม้ชี้ศพ อาวุธยุทโธปกรณ์ล้าสมัย และการแจกเงินแบบชุ่ย ๆ ยังแจกได้ แต่ประชาชนตกงานเป็นเบือ ธุรกิจเจ๊งระนาวแบบนี้ รัฐบาลช่วยเหลือกันแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ ได้ยังไง
ฐานะการคลังรัฐบาลเวลานี้ มีหนี้สาธารณะในระดับ 40% ของจีดีพี ซึ่งก็ยังมีเพดานที่จะก่อหนี้ได้อีก 20% ของจีดีพีในระดับประมาณ 3 ล้านล้านบาท ตามกรอบความยั่งยืน 60% ได้สบาย ๆ
ฝ่ายค้านก็คงไม่ค้าน และนักวิชาการก็คงไม่คัดค้านด้วย ขอแต่เพียงเอาเงินไปฟื้นฟูประเทศ ไม่ใช่เอาไปเหลวแหลกกับการซื้ออาวุธตามยุทธศาสตร์ไดโนเสาร์