ดอลล์ปรับตัวขึ้นรับข้อมูลภาคบริการสหรัฐแข็งแกร่ง
ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบสกุลเงินหลักส่วนใหญ่เมื่อคืนนี้ (5 ส.ค.) หลังจากมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคบริการสหรัฐในเดือนก.ค. ซึ่งช่วยหนุนท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ที่ว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย.
สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0898 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.0891 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์เพิ่มขึ้นที่ 1.5599 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5568 ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้นเทียบกับสกุลเงินเยนที่ 124.88 เยน จาก 124.33 เยน และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9792 ฟรังก์ จาก 0.9789 ฟรังก์ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียปรับลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7348 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7383 ดอลลาร์
ข้อมูลภาคบริการที่สดใสได้ช่วยหนุนดอลลาร์สหรัฐ หลังผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยเมื่อคืนนี้ว่า ดัชนีภาคบริการของ ISM อยู่ที่ระดับ 60.3 ในเดือนก.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 56.0 ในเดือนมิ.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 56.1 โดยISM ระบุว่า ภาคบริการของสหรัฐมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในเดือนก.ค. โดยได้แรงหนุนจากการขยายตัวของการจ้างงาน การส่งออก และคำสั่งซื้อใหม่
ขณะเดียวกัน บริษัทมาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจข้อมูลทางการเงิน รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ขั้นสุดท้ายสำหรับภาคบริการของสหรัฐ ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 55.7 ในเดือนก.ค. จากตัวเลขเบื้องต้นที่ 55.2 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 55.0 โดยได้แรงหนุนจากการขยายตัวในการจ้างงานและธุรกิจใหม่
รายงานภาคบริการที่แข็งแกร่งได้ช่วยชดเชยข้อมูลการจ้างงานของภาคเอกชนที่ออกมาต่ำกว่าคาด โดยผลการสำรวจของออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) แสดงให้เห็นว่า ภาคเอกชนของสหรัฐมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 185,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 215,000 ราย
ทั้งนี้ นักลงทุนในตลาดต่างก็รอดูดข้อมูลจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเดือนก.ค.ในวันศุกร์นี้ เพื่อประเมินความชัดเจนของภาวะตลาดแรงงานสหรัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยที่เฟดจะใช้ประกอบการพิจารณาในการปรับนโยบายการเงิน
ด้านผลการสำรวจนักวิเคราะห์ระบุว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 215,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. โดยลดลงจากระดับ 223,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ขณะที่คาดว่าอัตราการว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 5.3% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 7 ปี