โอกาส” ใน “วิกฤติ” ของ TMBAM Eastspring

โอกาส” ใน “วิกฤติ” ของ TMBAM Eastspring


หากย้อนไปดูเหตุการณ์ในช่วงที่เกิด “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 จะพบว่า การแก้ไขปัญหาวิกฤตการเงินของประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่อง การรักษาธุรกิจการเงินให้ดำเนินงานต่อไปโดยไม่หยุดชะงัก และมีการบริหารสภาพคล่องของธุรกิจการเงินให้ได้มากสุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อภาคธุรกิจในส่วนอื่นๆ ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยฝ่าฟัน “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์” ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2551 ได้อย่างน่าชื่นชม

จากบทเรียนทั้งสองเหตุการณ์จะเห็นได้ว่า นโยบายหลักที่ทุกภาคส่วนดำเนินการมาตลอดคือ “วินัย” ในการลงทุนที่มีต่อสินทรัพย์ต่างๆ และการรักษา “สภาพคล่อง” ทางการเงินให้คงอยู่ในระดับเหมาะสม รวมทั้งมีการ “อัดฉีดเงิน” เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในวงกว้าง ซึ่งส่งผลให้ผู้ลงทุนกลุ่มต่างๆ มีความมั่นใจขึ้นมากขึ้นว่า ผลตอบแทนของตัวเองจะได้รับการ “ดูแล” และ “ปกป้อง”  อย่างเต็มที่

โดยเฉพาะสถานการณ์ “กองทุนรวม” ที่ดำเนินงานใน “ปัจจุบัน” ก็แตกต่างจากสถานการณ์ใน “อดีต” อย่างชัดเจน และเมื่อย้อนกลับไปดูกรณีของ “นายช่วย คชสิทธิ์” หรือ “ลุงช่วย” ที่หันมาลงทุนในกองทุนรวมของธนาคารแห่งหนึ่ง ตามคำชักชวนของพนักงานแบงก์ โดยหวังจะได้ดอกเบี้ยกินทุกปี และไม่ต้องกลัวสูญเงินต้น เนื่องจากรัฐบาลเป็นประกัน

น่าเสียดายที่สถานการณ์จริงกลายเป็นว่า ตลาดหุ้นร่วงหนักจาก 1,700 จุด ลงมาเหลือแค่ 200 จุดกว่าๆ และกองทุนรวมก็เจ๊งระนาวกันถ้วนหน้า และลุงช่วยก็ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ เงินทั้งชีวิตที่เก็บมาครึ่งล้าน หายวับไปในพริบตาเดียว จนนำไปสู่การประท้วงที่ผู้คนไม่มีวันลืม เพราะในเดือนสิงหาคม 2544 ลุงช่วยได้ใช้ “ถุงขี้” เทราดหัวตัวเอง และเดินตรงปรี่เข้าไปในธนาคารเพื่อขอถอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ที่เหลือทั้งหมด พร้อมกับประกาศเลิกเป็นลูกค้าในทันที ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “ลุงช่วย ราดอึ”

ประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องราวทั้งหมดอยู่ที่ “วิกฤติ” ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งมักนำสู่ “โอกาส” เสมอมา พร้อมกับทำให้ทุกคนเรียนรู้ “ผลดี ผลร้าย” ที่เกิดขึ้นในคราวเดียวกัน จึงเห็นได้ว่า วันนี้ทุกคนเข้าใจระบบบริหาร และระบบความคิด ค่อนข้างดี จึงช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว และทำให้หน่วยงานทางการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือได้ทันเวลาพอดี

เหมือนกับสิ่งที่ TMBAM Eastspring  แถลงถึงผลกระทบที่เกิดจากภาวะวิกฤตการณ์โควิด-19 ซึ่งกระทบต่อสุขภาพประชาชน และสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างรุนแรง ทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์ทั้งใน ตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ อย่างหนัก จนเป็นเหตุให้บริษัทต้องออกประกาศ “ไม่ขาย ไม่ซื้อคืน และไม่สับเปลี่ยน” หน่วยลงทุน พร้อมกับประกาศปิด 4 กองทุนรวม ได้แก่ กองทุนเปิดทหารไทย ธนไพบูลย์,กองทุนเปิดทหารไทย ธนเพิ่มพูน,กองทุนเปิดทหารไทยธนพลัส และกองทุนเปิดทหารไทย ธนไพศาล

ตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมในการรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการควบคุมความเสียหายที่เกิดกับผู้ถือหุ้นให้อยู่ในวงจำกัด และอีกทางหนึ่งก็ได้เห็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่าง “คลัง-ธปท.-ก.ล.ต.” ซึ่งแท็กทีมเข้ามาอุ้มตลาดตราสารหนี้ เพื่อรับมือประชาชนแห่ไถ่ถอนมากผิดปกติ โดยใช้วิธีอัดฉีดสภาพคล่องผ่านธนาคารพาณิชย์ 1 ล้านล้านบาทในการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน พร้อมกับชี้ให้เห็นการไถ่ถอนก่อนกำหนดนั้นจะทำให้เสียประโยชน์

โดยแนวทางการให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องจะให้ผ่านสถาบันการเงินใน 2 รูปแบบ ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลบ 0.5% ต่อปี พร้อมกับกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจกองทุนรวมมากๆ

1.สถาบันการเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่เข้าเกณฑ์ ธปท. สามารถนำหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าว หรือสินทรัพย์ตามเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด มาใช้เป็นหลักประกันในการขอสภาพคล่องจาก ธปท. ได้

2.สถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือกองทุนรวมผ่านธุรกรรม repo สามารถนำสินทรัพย์ตามเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด มาใช้เป็นหลักประกันในการขอสภาพคล่องจาก ธปท. ได้

จุดที่น่าสนใจคือ การเล็งเห็นผลกระทบร่วมกันทำให้วิกฤติที่เกิดขึ้นครั้งนี้ “ผ่านมาแล้วผ่านไป” ไม่ได้สร้างรอยบอบช้ำเกินกว่าจะเยียวยาเหมือนในอดีต โดยบลจ.ได้ให้ความมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาสภาพคล่องเช่นเดียวกับทั้ง 4 กองทุนดังกล่าว  และจะไม่มีผลกระทบต่อการจัดการของกองทุนอื่นๆของ TMBAM Eastspring  อย่างแน่นอน

วันนี้จึงสรุปได้ทันทีว่า “โอกาส” ใน “วิกฤติ” มีอยู่จริง เพราะเราได้เห็นโอกาสของความร่วมมือแก้ไขปัญหา โอกาสในการเรียนรู้ปัจจัยที่เหนือการควบคุม โอกาสในการลดผลขาดทุนที่เกิดจากคนแห่มาไถ่ถอนหน่วย และโอกาสในการสร้างประสบการณ์ในการลงทุน

ทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่ไม่ได้เขียนไว้ในตำรา และขอแค่เรียนรู้อย่างมีสติสัมปชัญญะ ก็จะเข้าใจต้นทุนของวิชาที่ทุกคนต้องจ่ายมันไม่เท่ากัน!

Back to top button