โรงกลั่นเข้าขั้นวิกฤติ.!

สถานการณ์ “ราคาน้ำมันดิบโลก” กำลังเผชิญปัจจัยลบ ทั้งเรื่องสงครามราคาน้ำมัน (Price War) และวิกฤติโควิด-19 (Covid-19 Crisis) ที่มาตอกย้ำบาดแผลจากสงครามน้ำมันมากขึ้นอีก แม้สงครามครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากซาอุดีอาระเบียกับรัสเซีย หลังจากไม่สามารถตกลงเงื่อนไข การปรับลดกำลังผลิตน้ำมันตามที่ซาอุดีอาระเบีย เมื่อช่วงต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา


พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง

สถานการณ์ “ราคาน้ำมันดิบโลก” กำลังเผชิญปัจจัยลบ ทั้งเรื่องสงครามราคาน้ำมัน (Price War) และวิกฤติโควิด-19 (Covid-19 Crisis) ที่มาตอกย้ำบาดแผลจากสงครามน้ำมันมากขึ้นอีก แม้สงครามครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากซาอุดีอาระเบียกับรัสเซีย หลังจากไม่สามารถตกลงเงื่อนไข การปรับลดกำลังผลิตน้ำมันตามที่ซาอุดีอาระเบีย เมื่อช่วงต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

ทว่ามันไม่จบอยู่เพียงเท่านั้น!! อีกกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลก อย่างรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ที่เคยรุ่งโรจน์ มากว่า 120 ปี นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1901 พบว่าสถานภาพเริ่มสั่นคลอนแล้วเช่นกัน เห็นได้ชัดจากกรณีผู้นำสหรัฐฯ ออกมาร้องขอให้ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้ง เพื่อยุติสงครามราคาน้ำมันดังกล่าว จนถึงวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ร่างจดหมายให้รัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อปรามซาอุดีอาระเบียและขู่เรื่องคว่ำบาตรไปด้วย

แต่ดูเหมือนทั้งซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย ยังใช้กลยุทธ์ “ทุบหม้อข้าวตัวเอง” เช่นเดิม..!!?

ทำให้สถานการณ์ “ราคาน้ำมันดิบ” รอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ไม่เพียงไม่ดีขึ้น แต่กลับย่ำแย่ลงอีก เห็นได้จากสัญญาน้ำ มันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ปรับลงกว่า 53% สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ปรับลงกว่า 46% และสัญญาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ปรับลงกว่า 50% เช่นกัน

กลับมาสู่ผู้ประกอบการโรงกลั่นไทย ที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้การปิดงบการเงินไตรมาส 1/63 เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งว่าจะย่ำแย่มากน้อยเพียงใด เพื่อทำนายอนาคตกันต่อว่า “หุ้นโรงกลั่น” จะยังน่าลงทุนอยู่หรือไม่.!?

ภาษิตโบราณที่ว่า “ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” จึงเหมาะสมที่จะใช้กับสถานการณ์หุ้นโรงกลั่น ที่เดิมบาดแผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน กำลังเริ่มจางหายลง แต่กลับมาเจอ “สงครามราคาน้ำมัน” และยังถูกกระหน่ำด้วยวิกฤติโควิด-19 เข้าไปอีก.!

สิ่งแรกที่ปรากฏในงบการเงินหุ้นโรงกลั่น นั่นคือ การขาดทุนจากสต๊อก (Stock Loss) จากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงกว่า 60% จากช่วงปลายปี 2562 ส่วนตัวเลขจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการวัตถุดิบ แต่ละโรงกลั่นที่แตกต่างกันไป

ตามมาด้วย “กำไรจากค่าการกลั่น” ดูจากต้นทุนราคาน้ำมันดิบ หากเป็นสถานการณ์ปกติทั่วไป ตัวเลขกำไรจากค่าการกลั่น น่าจะมากกว่าระดับ 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่วิกฤติโควิด-19 ทำให้ดีมานด์ตลาดหดตัวอย่างรุนแรง เห็นได้ชัดจากการปิดการเดินทางสัญจร ทั้งทางอากาศ-ทางบกและทางเรือ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันหดตัวทันที

จึงทำให้ “กำไรจากค่าการกลั่น” ออกมาระดับต่ำช่วงไตรมาส 1/63 แรก และต่อเนื่องจนถึงปลายปีนี้ โดยมีเงื่อนไขการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นหลัก

อีกหนึ่งตัวเลขที่เสมือนเป็นโอกาสกลุ่มโรงกลั่น นั่นคือผลประโยชน์จากมาตรฐาน IMO 2020 ที่หลายโรงกลั่นใช้เป็นเรือธงขับเคลื่อนกำไรปีนี้ มีอันต้องผิดหวังตั้งแต่ยังไม่ทันได้ชักใบเรือด้วยซ้ำ..เนื่องจาก IMO 2020 เริ่มมีผลนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 เป็นต้นไป แต่ทว่าการมาของ “ไวรัสโควิด-19” ทำให้โอกาสจาก IMO 2020 มีอันเลือนหายไปทันที แม้หลายโรงกลั่นมีการลงทุนตระเตรียมไว้พร้อมมาก่อนหน้านี้ก็ตาม

ส่วน “โรงกลั่นลูกผสม” ที่มีทั้งโปรดักส์น้ำมันและปิโตรเคมี ดูเหมือนตกที่นั่งลำบากไม่แพ้กัน..เพราะสเปรดปิโตรเคมี ก็ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยเช่นกัน

Back to top button