พาราสาวะถี

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 หรือศบค. ที่ตั้งขึ้นมาตามการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเป็นผู้อำนวยการและประชุมกันทุกวันตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมเป็นต้นมานั้น เดิมทีตั้งเป้าว่าจะเป็นศูนย์เดียวที่แถลงข่าวเรื่องสถานการณ์โควิด-19 วันละรอบ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ป้องกันการสับสนของประชาชน แต่สุดท้าย ต้องให้กระทรวงสาธารณสุขแยกตัวไปแถลงเรื่องตัวเลขผู้ป่วยรายวัน เพื่อป้องกันสื่อมวลชนที่จะแห่แหนกันไปยังทำเนียบรัฐบาลแค่จุดเดียว


อรชุน

ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 หรือศบค. ที่ตั้งขึ้นมาตามการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเป็นผู้อำนวยการและประชุมกันทุกวันตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมเป็นต้นมานั้น เดิมทีตั้งเป้าว่าจะเป็นศูนย์เดียวที่แถลงข่าวเรื่องสถานการณ์โควิด-19 วันละรอบ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ป้องกันการสับสนของประชาชน แต่สุดท้าย ต้องให้กระทรวงสาธารณสุขแยกตัวไปแถลงเรื่องตัวเลขผู้ป่วยรายวัน เพื่อป้องกันสื่อมวลชนที่จะแห่แหนกันไปยังทำเนียบรัฐบาลแค่จุดเดียว

สาระสำคัญคงไม่ได้อยู่ที่ว่าจะแถลงกันกี่วง สิ่งที่สื่อทุกสำนักต้องการคือตัวเลขที่เป็นจริงและสถานการณ์ที่แท้จริง เพื่อรายงานให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ลดการตื่นตระหนก หวาดกลัวของผู้คนในยามที่ข่าวผ่านทางโซเชียลมีเดีย มีผลต่อการชี้นำและกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง แน่นอนว่า การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินและการเกิดขึ้นของศบค. ก็เพื่อเป้าประสงค์ในการกำจัดข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์บนโลกออนไลน์นั่นเอง

แต่ล่าสุด กับการแถลงของศบค.โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เรื่องหน้ากากอนามัยกับสต๊อก 200 ล้านชิ้น โดยมีการร้องขอให้ทุกคนลบภาพดังกล่าวนั้นไปเสีย และจากนี้ไปจะมีแต่ตัวเลขที่จะเป็นไปด้วยมาตรการการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยที่จะดำเนินการร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข มหาดไทยและกระทรวงพาณิชย์ นี่หมายความว่ากำลังจะใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อให้ทุกคนหยุดพูดถึงปมหน้ากากอนามัยฉาวอย่างนั้นหรือ

ความจริงตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่การกล่าวหาลอย ๆ หรือเป็นการกุเรื่องขึ้นเองของสื่อหรือแม้แต่ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล ถ้าจำกันได้เมื่อวันที่ 30 มกราคมเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี่เอง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะไปตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย Thai Hospital Products จำกัด ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยอู๊ดด้าย้ำว่า จากการสำรวจกำลังการผลิตของโรงงานขอให้ประชาชนมีความมั่นใจว่ามีเพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชนแน่นอน

หากจบเท่านั้นคงไม่มีอะไร แต่ท่านรัฐมนตรีบอกต่อว่า โดยภาพรวมโรงงานในไทย 10 โรงงาน มีสต๊อกสินค้ากว่า 200 ล้านชิ้น ใช้ได้นาน 4-5 เดือน หากไม่มีการผลิตเพิ่ม ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการย้ำอีกว่ากำลังการผลิตทั้งระบบ 10 โรงงานใหญ่มีกำลังการผลิตรวมถึงเดือนละประมาณ 100 ล้านชิ้น ประชาชนใช้ปกติเดือนละ 30 ล้านชิ้นในประเทศ แต่หากสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนาไม่ดีขึ้น ความต้องการใช้อาจเพิ่มเป็น 40 ล้านชิ้นต่อเดือน

ก่อนที่จะย้ำด้วยว่า ไม่อยากให้ตื่นตระหนกและไม่ควรซื้อเพิ่มมาเก็บไว้ใช้กลัวว่าจะขาดตลาด ทางกระทรวงพาณิชย์ให้ความมั่นใจว่าจะสามารถจัดผู้ผลิตให้ผลิตทันความต้องการใช้โดยต่อเนื่องและไม่ขาดตอน และสิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยืนยันก็คือ กระทรวงมีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนของปริมาณ ไม่ให้ขาดแคลนและเรื่องราคาไม่ให้มีการโก่งราคาขายเกินราคาที่เป็นธรรม แล้วเป็นไงขนาดประกาศให้เป็นสินค้าควบคุม ก็ยังไม่สามารถควบคุมทั้งราคาและปริมาณได้แม้แต่เรื่องเดียว

ดังนั้น ข้อแก้ตัวของปลัดกระทรวงพาณิชย์ที่ว่า เป็นความคลาดเคลื่อนของการสื่อสาร” จึงไม่น่าจะมีน้ำหนักมากเพียงพอ ถ้าคลาดเคลื่อนได้ขนาดนั้น จุรินทร์ก็คงต้องไปไล่บี้คนที่ป้อนชุดข้อมูล 200 ล้านชิ้นให้ด้วยว่า ไปเอามาจากไหน ทำไมถึงมั่วได้ขนาดนั้น ถ้าเป็นการทำงานที่ผิดพลาดมหันต์เช่นนี้ ก็ไม่สมควรที่จะต้องให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่อีกต่อไปหรือไม่ มาตรการในการตรวจสอบและลงโทษต่อการสื่อสารคลาดเคลื่อนตามคำกล่าวอ้างของปลัดพาณิชย์ต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบอย่างละเอียด

การออกตัวเช่นนี้ พร้อม ๆ กับการประกาศจัดระเบียบเรื่องการกระจายหน้ากากอนามัยให้เพียงพอต่อความต้องการโดยเฉพาะในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุข ด้านหนึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด แต่จะทันต่อสถานการณ์หรือไม่ ต้องให้บุคคลที่เกี่ยวข้องได้วิพากษ์กันเอง แต่ในอีกแง่นี่คือการหาทางลงของรัฐบาล เพื่อที่จะไม่ตรวจสอบหรือเอาผิดกับขบวนการหากินกับหน้ากากอนามัยที่ถือว่าเป็นเวชภัณฑ์อันจำเป็นต่อการสู้รบกับโควิด-19 ใช่หรือไม่

ประเด็นนี้ละเอียดอ่อน ไม่ใช่การมาไล่บี้ว่าจะต้องหาผู้รับผิดชอบในขณะที่สถานการณ์บ้านเมืองเป็นเช่นนี้ แต่ต้องแยกแยะออกจากกัน เรื่องการเฝ้าระวัง ป้องกันและการให้ความร่วมมือทุกคนก็ทำกันอย่างเต็มที่รวมถึงภาคประชาชน แต่คนที่มีอำนาจจะปล่อยให้เรื่องของการหากินบนความเดือดร้อนของประชาชนผ่านไปโดยไม่มีอะไรไม่ได้ ไม่ใช่เฉพาะแค่ปมหน้ากากอนามัยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงปัญหาไข่ไก่ขาดตลาดและราคาแพงด้วย

ขณะที่ข้อเสนอด้วยความห่วงใยจากหลายฝ่ายต่อการบริหารจัดการในการแก้ปัญหาโควิด-19 ของรัฐบาล ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งบางเรื่องก็ถือว่าน่าคิดอยู่ไม่น้อย เช่น ความเห็นจาก จาตุรนต์ ฉายแสง ในกรณีการคัดเลือกผู้ที่ควรตรวจหรือ Testing และรักษา โดยเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดเข้าในระบบออนไลน์แบบเรียลไทม์ ตั้งเป้าหมายเพิ่มการตรวจผู้ที่ควรตรวจให้ได้จำนวนมากและเร็วใกล้เคียงกับประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่นกี่แสนครั้งภายในวันที่ 30 เมษายนนี้ ซึ่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินจะหมดอายุ

ปัญหาใหญ่ที่เราได้ยินได้ฟังจากทางผู้มีอำนาจเตือนมาโดยตลอดคือ ใครที่ไม่อยู่ในภาวะเสี่ยงไม่จำเป็นต้องไปเข้าสู่กระบวนการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แต่จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่เวลานี้แม้จะไม่ประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่การระบาดในระยะที่ 3 ก็ตาม ทว่าสิ่งที่เห็นและเป็นไปต่างรู้ดีกันว่า มันใกล้เคียงหรืออาจจะอยู่ในระยะนั้นแล้ว ดังนั้น การเพิ่มเป้าหมายในการตรวจผู้สมควรตรวจแม้ไม่อยู่ในเกณฑ์เข้าข่ายเสี่ยง แต่เป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงหากติดเชื้อจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการอย่างยิ่ง

ข้อคิดจากจาตุรนต์ก็คือ จะหลีกเลี่ยงความเสียหายใหญ่หลวงได้ต้องเปลี่ยนแปลง คำถามที่ตามมาคงเป็นประเด็นที่ว่า แล้วถ้ารัฐบาลคิดว่าได้เปลี่ยนเกมแล้ว ผ่านการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็คงจะจนปัญญาที่จะไปถามหามาตรการอื่นใดที่จะผิดไปจากที่เป็นอยู่ ถ้าเช่นนั้นก็ต้องทำใจและเอาใจช่วยเพียงอย่างเดียว หวังว่าเราจะชนะและผ่านพ้นไปด้วยกัน เหมือนอย่างที่ท่านผู้นำตั้งปณิธานไว้

Back to top button