BEAUTY เลื่อนประชุมผถห.หนี “โควิด” – เคาะจ่ายปันผล 0.036 บ. 29 เม.ย.นี้
BEAUTY เลื่อนประชุมผถห.หนี “โควิด” - เคาะจ่ายปันผล 0.036 บ. 29 เม.ย.นี้
นายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติเลื่อนวันและวาระการประชุมออกไปอย่างไม่มีกำหนด จากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 23 เมษายน 2563 โดยบริษัทฯ จะพิจารณากำหนดวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นที่เหมาะสมใหม่ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 คลี่คลายหรือสิ้นสุดลง
อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้สิทธิการรับเงินปันผลของผู้ถือหุ้นได้รับผลกระทบจากการเลื่อนการประชุมดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลงวดครึ่งปีหลัง ในอัตราหุ้นละ 0.036 บาทต่อหุ้น คิดเป็นจำนวนเงิน 107.97 ล้านบาท หรือคิดเป็น 92.72% ของกำไรสุทธิ จากที่ได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้ว 0.035 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็น 90.10 %ของกำไรสุทธิ
โดยจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสด รวมทั้งสิ้น 104.80 ล้านบาท ส่งผลให้ในปี 2562 บริษัทจ่ายเงินปันผลรวมทั้งสิ้น 0.071 บาทต่อหุ้น คิดเป็นจำนวนเงิน 212.59 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราจ่ายปันผล 91.41% ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีและสำรองตามกฎหมาย จากนโยบายปันผลไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ
พร้อมกันนี้ อนุมัติเปลี่ยนแปลงวันกำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) และกำหนดวันจ่ายเงินปันผลใหม่ เป็นกำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 10 เมษายน 2563, กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผล (RD) วันที่ 13 เมษายน 2563 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 29 เมษายน 2563
“จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้ถือหุ้นและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน จึงเห็นสมควรให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการดำเนินงาน บริษัทมีความพร้อมในการปรับตัวอย่างเต็มที่ ทั้งระบบการค้า สร้างช่องทางจำหน่ายใหม่ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะกลับมาพัฒนาธุรกิจให้มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นในลำดับต่อไป อีกทั้งบริษัทได้มีการติดตามสถานการณ์ และผลกระทบต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาปรับทิศทางการดำเนินธุรกิจ ปรับตัวในด้านการใช้จ่ายและการควบคุมแผนงานต่างๆมากขึ้น เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด” นายแพทย์สุวิน กล่าว