พาราสาวะถี
ประเดิมประกาศเคอร์ฟิวเป็นจังหวัดแรกสำหรับนนทบุรี เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา โดยห้ามประชาชนในพื้นที่ออกจากเคหสถานหลังเวลา 23 นาฬิกาถึง 5 นาฬิกา มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ แต่คำถามก็คือเพื่อป้องกันการมั่วสุม รวมตัวกันของคนหมู่มากหลังจากที่สั่งให้ร้านสะดวกซื้อทำการเปิดปิดเป็นเวลาเดียวกันกับที่ประกาศเคอร์ฟิว คำถามคือแล้วช่วงเวลาที่เหลือประชาชนปฏิบัติตามการขอความร่วมมือเว้นระยะห่างทางสังคมหรือ Social Distancing หรือไม่
อรชุน
ประเดิมประกาศเคอร์ฟิวเป็นจังหวัดแรกสำหรับนนทบุรี เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา โดยห้ามประชาชนในพื้นที่ออกจากเคหสถานหลังเวลา 23 นาฬิกาถึง 5 นาฬิกา มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ แต่คำถามก็คือเพื่อป้องกันการมั่วสุม รวมตัวกันของคนหมู่มากหลังจากที่สั่งให้ร้านสะดวกซื้อทำการเปิดปิดเป็นเวลาเดียวกันกับที่ประกาศเคอร์ฟิว คำถามคือแล้วช่วงเวลาที่เหลือประชาชนปฏิบัติตามการขอความร่วมมือเว้นระยะห่างทางสังคมหรือ Social Distancing หรือไม่
คำตอบก็คือไม่ได้เป็นเช่นนั้น ยิ่งตามย่านซึ่งเป็นสถานที่จับจ่ายใช้สอย เช่น ตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ยังพบผู้คนแห่แหนไปซื้อหาสินค้ากันไม่ขาดสาย ไม่ใช่ว่าคนเหล่านั้นไม่ให้ความร่วมมือ แต่เรื่องปากท้อง ของใช้จำเป็น มันเป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้ ดังนั้น จึงอยู่ที่มาตรการในการเฝ้าระวังตัวเองของประชาชน เวลาที่ต้องออกจากบ้านไปพบปะผู้คน องค์ความรู้ที่กระทรวงสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญจากหลายแห่งได้แนะนำมา น่าจะเพียงพอเป็นคู่มือให้กับประชาชนใช้ประคับประคองชีวิตตัวเองให้รอดปลอดภัยได้
อย่างไรก็ตาม มีความเห็นเสนอแนะมาพร้อม ๆ กับการตั้งคำถามของประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไปติดต่อกับสถานพยาบาลของรัฐบาลที่วันนี้มีการตั้งจุดคัดกรองกันเข้มข้น สิ่งที่หลายคนไม่เข้าใจคือ เมื่อเจ้าหน้าที่สอบถามถึงที่อยู่ของคน ๆ นั้น หลังจากบอกไปก็มีการถามย้ำว่าในพื้นที่ไม่มีคนติดเชื้อโควิด-19 จริงหรือ ซึ่งไม่ใช่อากัปกิริยาของคนที่สงสัยใคร่รู้ แต่เป็นเรื่องที่รู้ว่ามีใครติดเชื้อตรงจุดไหนบ้าง ตรงนี้นอกจากจะไม่สร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนแล้ว ยังจะเป็นการทำให้ตื่นตระหนกตกใจกันหนักเข้าไปอีก
ทางที่ดีก็ประกาศหรือบอกไปเลยว่า พบผู้ติดเชื้อจุดไหน ไม่ใช่ไปไล่ถามเค้นเอาคำตอบจากชาวบ้านที่ไปติดต่อในทำนองว่าไม่รู้หรือคิดว่าในพื้นที่ตัวเองไม่มีผู้ติดเชื้ออย่างนั้นหรือ ซึ่งไม่น่าจะเป็นวิธีการสื่อสารที่ควรเกิดขึ้นในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ นี่ไงที่เป็นข้อคลางแคลงใจของคนจำนวนไม่น้อยว่าข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณะนั้น เป็นความจริงทั้งหมดหรือมีการกั๊กไว้บางส่วน หากเป็นอย่างหลังก็เท่ากับว่าสถานการณ์ที่คนรับรู้กับความเป็นจริงมันห่างไกลกันอย่างมากใช่หรือไม่
ด้วยเหตุนี้แม้ไม่ประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ระยะที่ 3 แต่จากมาตรการที่ได้ดำเนินการไป ก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่าสถานการณ์ที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องห่วงหรือเกรงว่าคนไทยจะหวาดวิตก จนไม่เป็นอันทำอะไร แต่มันจะเป็นสัญญาณเตือนให้คนได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องอยู่แต่ในบ้านหรือหากมีธุระจะต้องไปติดต่อก็จะได้ไปให้น้อยที่สุด ส่วนเรื่องภาระของคนที่ยังต้องทำงานอยู่นั้น พูดไปก็ไม่มีวันที่รัฐบาลจะช่วยอะไรได้ ต้องยอมรับว่ามันหมดปัญญาที่จะหาทางช่วยเหลือจริง ๆ
ลำพังแค่การเปิดให้ลงทะเบียนรับ 5,000 บาท 3 เดือน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3 ล้านคน ก็ทะลุไปเกินหลัก 20 ล้าน เม็ดเงินที่วางไว้ 45,000 ล้านไม่ต้องพูดถึง ยังไม่รวมปัญหาที่ตามมาจากการที่คนแห่แหนไปเข้าคิวเพื่อเปิดบัญชีและทำพร้อมเพย์ผ่านธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ จนต้องประกาศปิดกันไปเมื่อสุดสัปดาห์และตามมาด้วยการไม่รับเปิดบัญชีในช่วงนี้ สร้างความเดือดร้อนให้คนที่จำเป็นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการไปขอเงินห้าพันอีกต่างหาก
นี่ย่อมเป็นภาพสะท้อนวิธีคิดและการบริหารจัดการของรัฐบาลนี้ได้เป็นอย่างดีว่า ครอบคลุม รอบด้านหรือไม่ ไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องปิดเมือง ปิดประเทศ เพราะจะไม่มีวันเกิดขึ้น สิ่งที่ทำได้คือฝ่ายบริหารอันมีอำนาจสูงสุดหันไปยืมมือข้าราชการระดับสูงในพื้นที่ซึ่งก็คือผู้ว่าราชการจังหวัด ในการออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันเป็นบางพื้นที่บางจุดกันเอาเอง หากมองในแง่ดีที่ว่าเป็นการกระจายอำนาจก็ใช่ แต่ถ้ามองภาพใหญ่แล้วมันจะสามารถแก้ไขปัญหาในภาพรวมได้ทั้งหมดหรือไม่ คำตอบมันชัดเจนอยู่แล้ว
ปมเรื่องงบประมาณในการบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 จะเป็นอีกเรื่องที่แสดงให้เห็นประสิทธิภาพในการทำงานของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ข้อเสนอด้วยความหวังดีนั้นมีมาจากทุกภาคส่วน อยู่ที่ว่าจะหยิบยกเอาแบบไหนมาดำเนินการ เรื่องการกู้เงินเพิ่ม น่าจะเป็นคำถามตัวโตว่าสมควรหรือไม่ ไม่ลองใช้วิธีการบริหารจัดการแบบอื่น เช่น การตัดงบประมาณจากทุกกระทรวงร้อยละ 10 มาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อนได้หรือไม่
ถ้ายังไม่พอก็ยังมีวิธีการอื่นที่น่าจะดีกว่าการตั้งเป้าจะกู้เพียงอย่างเดียว อย่าอ้างสถานการณ์เฉพาะหน้า บรรดาคนใกล้ตัวที่สถาปนาตัวเองว่าเป็นกูรู ผู้รู้ทั้งหลาย ต้องมีคำชี้แนะหลากมิติเป็นทางเดินที่ไม่ทำให้ท่านผู้นำสุ่มเสี่ยงต่อการถูกครหาว่าบริหารไม่เป็น เน้นแต่กู้และรีดภาษีอย่างเดียว ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่ถูกติติงมาตั้งแต่เข้าบริหารประเทศจวนจะครบ 6 ปี ในยามวิกฤตเช่นนี้แหละที่จะเป็นโอกาสแสดงฝีมือให้ประชาชนเห็นเป็นที่ประจักษ์
ฟังบทสัมภาษณ์จากองค์การอนามัยโลกล่าสุด อาจทำให้หลายคนโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 อ่อนใจ เพราะฮูยืนยันว่า การแพร่ระบาดใหญ่ “ยังห่างไกลจากคำว่าจบในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” นี่จะเป็นการสู้รบอันยาวนาน และเราไม่สามารถปล่อยการ์ดให้ตกได้ ทุกประเทศจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะรับมือกับการแพร่ระบาดขนาดใหญ่ แม้จะมีการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่นที่ทำอยู่ในปัจจุบัน แต่ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดในภูมิภาคยังจะไม่หายไป
จุดที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยก็คือ แม้ว่าการเฝ้าระวังและจำกัดการแพร่เชื้อด้วยมาตรการเข้มข้นจะประสบความสำเร็จ ซึ่งต้องประเมินกันหลังจากสิ้นเดือนเมษายนนี้ไปแล้ว หากสถานการณ์ดีขึ้น สิ่งที่ยังไว้วางใจไม่ได้ซึ่งฮูเตือนก็คือ การติดเชื้อจากต่างประเทศก็ยังคงเป็นประเด็นที่น่าวิตกกังวล โดยยกตัวอย่าง สิงคโปร์และเกาหลีใต้ ที่พบผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศมากขึ้น โดยกรณีของประเทศไทยไม่ได้มีเฉพาะประเด็นการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น แต่ยังมีคนไทยในพื้นที่การระบาดอีกจำนวนไม่น้อยที่รอเวลาจะเดินทางกลับประเทศด้วย นี่คือสิ่งที่รัฐบาลจะต้องวางแผนเผื่อไว้ตั้งแต่วันนี้