เช็กเลย! 9 แบงก์เปิดพักชำระหนี้ อุ้มลูกค้าฝ่าวิกฤต “โควิด-19”
เช็กเลย! 9 แบงก์เปิดพักชำระหนี้ อุ้มลูกค้าฝ่าวิกฤต "โควิด-19"
สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ทำให้ประชาชนหลายภาคส่วนได้รับผลกระทบในเรื่องการขาดรายได้ เป็นเหตุให้ไม่มีเงินไปจ่ายหนี้บ้านที่ติดค้างธนาคารอยู่ ซึ่งบางธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการสั่งพักชำระหนี้ แต่ยังคงให้ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยอยู่
ทั้งนี้ ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับธนาคารที่มีมาตรการพักชำระหนี้ เงินต้นและดอกเบี้ย รวม 5 ธนาคาร ดังนี้
1.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY
สำหรับ BAY ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) โดยลูกค้าสามารถยื่นคำขอได้ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีรายละเอียด ได้แก่
– พักชำระหนี้เงินต้น (จ่ายแต่ดอกเบี้ย) สูงสุด ไม่เกิน 12 เดือน
– ปรับลดจำนวนเงินผ่อนชำระค่างวด (ลดค่างวด )ไม่เกิน 12 เดือน
– พักชำระหนี้เงินผ่อนชำระค่างวด (พักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) ไม่เกิน 6 เดือน
พร้อมมีเงื่อนไขพิเศษคือ
– ต้องไม่เป็นสินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน
– ไม่เคยปรับปรุงโครงสร้างหนี้
– ไม่เป็นสินเชื่อที่อยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563
นอกจากนี้ ธนาคารขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาความช่วยเหลือตามผลกระทบที่ลูกค้าได้รับแล้วแต่กรณี
2.ธนาคารธนชาติ จำกัด (มหาชน)
สำหรับธนาคารธนชาติ ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อบ้านธนชาติ หรือ Thanachart Home Loan ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลาสูงสุด 3 เดือน และเมื่อครบกำหนดก็ต้องชำระหนี้ตามปกติ โดยระยะเวลาโครงการจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2564
อนึ่ง Thanachart Home หมายถึง สินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ (Refinance), สินเชื่อบ้านมือสอง( Resell house), สินเชื่อปลูกบ้าน (Self built), สินเชื่อบ้านแลกเงิน (Cash Your Home), สินเชื่อโฮมพลัส (Home Plus)
สำหรับเอกสารที่ใช้ในการพิจารณา ได้แก่
– สลิปเงินเดือนหรือหนังสือรับรองการทำงาน
– สเตทเมนต์
– สัญญาเช่า
– หลักฐานที่แสดงว่าได้รับผลกระทบจริง ๆ
3.ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB
สำหรับ TMB ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อบ้าน ทีเอ็มบี (TMB Home Loan) ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลาสูงสุด 3 เดือน และเมื่อครบกำหนดก็ต้องกลับมาชำระหนี้ตามปกติ
อนึ่ง TMB Home Loan หมายถึง สินเชื่อบ้านรีไฟแนนซ์ (Refinance), สินเชื่อบ้านอเนกประสงค์ (Home For Cash), สินเชื่อบ้านอเนกประสงค์ รีไฟแนนซ์ (Home For Cash Refinance), สินเชื่อสวัสดิการเพื่อที่อยู่อาศัย (BenefitPlus Home Loan), สินเชื่อสวัสดิการเพื่อที่อยู่อาศัย รีไฟแนนซ์ (BenefitPlus Home Loan Refinance), สินเชื่อสวัสดิการอเนกประสงค์ แบบมีหลักประกัน (BenefitPlus Home For Cash), สินเชื่อสวัสดิการอเนกประสงค์ แบบมีหลักประกัน รีไฟแนนซ์ (BenefitPlus Home For Cash Refinance)
สำหรับเอกสารที่ต้องใช้เบื้องต้น ได้แก่
– สลิปเงินเดือนหรือหนังสือรับรองการทำงาน
– สเตตเมนต์
– สัญญาเช่า
– หลักฐานที่แสดงว่าได้รับผลกระทบจริง ๆ
4.ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT
สำหรับ CIMBT ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อบ้านโฮมโลนฟอร์ยู, สินเชื่อมอร์เกจ พาวเวอร์, สินเชื่อบุคคลแคชลิงค์ และสินเชื่อพร็อพเพอร์ตี้โลน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 มีมาตรการให้เลือก 3 มาตรการ ได้แก่
– พักชำระหนี้เงินต้น จ่ายแต่ดอกเบี้ย เป็นเวลา 3 เดือน (สำหรับยอดหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาท)
– พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน
– ลดค่างวดการผ่อนชำระ
สำหรับขั้นตอนการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ได้แก่
- ลงทะเบียนผ่าน LINE ของธนาคาร @cimbthai พร้อมเตรียมรายละเอียดตามสัญญาสินเชื่อ และข้อมูลติดต่อให้ครบถ้วน
- รอรับ SMS ตอบกลับจากธนาคารภายใน 5 วันทำการ ซึ่งธนาคารอาจจะติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม
5.ธนาคารออมสิน
สำหรับธนาคารออมสินได้มีมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ 3 เดือน ลูกค้าเงินกู้ธนาคารออมสิน ทุกราย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 เพื่อช่วยลูกค้าที่เผชิญภัยโควิด 19 โดยที่ไม่ต้องร่วมลงทะเบียนแต่อย่างใด ทว่าหากคนไหนไม่ต้องการเข้าร่วม ก็สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ตามปกติ
6.ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL
สำหรับ BBL ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สำหรับสินเชื่อลูกค้ารายย่อย และสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเน้นการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระสินเชื่อ รวมถึงการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เพื่อช่วยลูกค้าลดความวิตกและกังวลใจผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.63 นี้เป็นต้นไป
สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ดังกล่าว ประกอบด้วยรายละเอียด ดังนี้
1.ลูกค้าบัตรเครดิต
– จะได้รับการปรับลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำมาอยู่ที่ 5% (จากเดิม 10%) มีผลตั้งแต่รอบบิลของวันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี โดยเป็นมาตรการช่วยเหลือที่ให้สิทธิแก่ลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพทุกประเภทและทุกรายอัตโนมัติ โดยไม่ต้องแจ้งความประสงค์เป็นรายบุคคลมายังธนาคารแต่อย่างใด
– กลุ่มลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ที่มีอาชีพหรือทำงานในธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยว สายการบิน และอาชีพในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง จากการที่รัฐบาลประกาศให้หยุดบริการชั่วคราว หรือลูกค้าที่มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/เดือน สามารถขอรับความช่วยเหลือปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ เป็นคงเหลือที่ 12% โดยลูกค้าแจ้งความประสงค์เป็นรายบุคคลมายังช่องทางของธนาคาร
2.สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทเงินกู้ (Installment Loan)
– สามารถลงทะเบียนขอรับการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ได้เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยลูกค้าแจ้งความประสงค์เป็นรายบุคคลมายังช่องทางของธนาคาร
3.สินเชื่อที่อยู่อาศัย
– ลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัย วงเงินขณะอนุมัติไม่เกิน 3 ล้านบาท สามารถลงทะเบียนขอรับการพักชำระเงินต้น (จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย) ได้เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งจะพิจารณาปรับดอกเบี้ยให้ลูกค้าแต่ละรายตามสถานการณ์ เพื่อช่วยลดความกังวลใจ โดยลูกค้าแจ้งความประสงค์เป็นรายบุคคลมายังช่องทางของธนาคาร
4.สินเชื่อธุรกิจ SME
– ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี วงเงินขณะอนุมัติไม่เกิน 20 ล้านบาท สามารถขอพักชำระเงินต้น (จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย) ได้เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งจะพิจารณาปรับดอกเบี้ยให้ลูกค้าแต่ละรายตามสถานการณ์ เพื่อช่วยลดความกังวลใจ โดยลูกค้าแจ้งความประสงค์มายังช่องทางของธนาคาร
7.ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK
สำหรับ KBANK มีมาตรการพิเศษด้านสินเชื่อเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระหนี้และเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้ารายย่อยและลูกค้าผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจและสถานการณ์ COVID-19 ครอบคลุมผลิตภัณฑ์สินเชื่อ 6 ประเภท ได้แก่ บัตรเครดิตกสิกรไทย, บัตรเงินด่วน Xpress Cash, สินเชื่อเงินด่วน Xpress Loan, สินเชื่อบ้านกสิกรไทย, สินเชื่อธุรกิจ K SME และสินเชื่อรถ KLeasing
โดยมาตรการพิเศษด้านสินเชื่อจากธนาคารกสิกรไทย มุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือกับลูกค้า 3 ด้าน ได้แก่ พักชำระเงินต้นจ่ายแต่ดอกเบี้ย หรือพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ลดยอดผ่อนต่องวด และขอวงเงินสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อให้การช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่องที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า และสามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้
8.ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB
สำหรับ SCB มีมาตรการเร่งด่วนให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในกลุ่มธุรกิจโรงแรมทั่วประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ โควิด-19 ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ในทันที เพื่อช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวลให้กับผู้ประกอบการทุกกลุ่ม และเพิ่มความยืดหยุ่นให้ธุรกิจมีความพร้อมสามารถที่จะเผชิญและรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างเต็มศักยภาพ
โดยมาตรการเบื้องต้นธนาคาร จะช่วยผ่อนคลายผลกระทบระยะสั้นผ่านมาตรการพักชำระเงินต้น (Grace Period) นานสูงสุด 6 เดือน และจะติดตามประเมินผลกระทบในระยะถัดไปอย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์มีความยืดเยื้อธนาคาร พร้อมที่จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกค้าด้วยมาตรการเพิ่มเติมต่อไป
9.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB
สำหรับ KTB ได้มีการเพิ่มมาตรการช่วยเหลือเพื่อแบ่งเบาภาระลูกค้าอย่างทั่วถึง มุ่งเน้นการปรับโครงสร้างหนี้และเสริมสภาพคล่องลูกค้ารายย่อยที่กู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อบุคคล ธนาคารพักชำระเงินต้นสูงสุด 12 เดือน นอกจากนี้ ยังสามารถขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมจากสินเชื่อ Home for Cash โดยใช้หลักประกันเดียวกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีกับธนาคาร
พร้อมด้วยกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โรงแรม การส่งออกสินค้าไปยังจีนและประกอบธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ โดยธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือทั้งลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กโดยได้พักชำระหนี้และขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดกลาง เป็นกรณีเร่งด่วนไปแล้วกว่า 200 ราย วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท