พาราสาวะถี
ทำไมตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยที่แถลงกันรายวันถึงยังไม่ต่ำกว่าหลักร้อย ไม่น้อยกว่าหลักสิบหรือหยุดนิ่งสนิทเหมือนช่วงเดือนกว่า ๆ ก่อนหน้านี้ คำตอบหาได้ง่ายมาก มันก็เกิดจากสนามมวยลุมพินีและสถานบันเทิงทั้งหลายในช่วงที่ไม่มีความร่วมมือตามคำสั่งของท่านผู้นำ เมื่อหนึ่งคนติดแล้วคนไปสุมหัวรวมตัวกันหลักร้อยหลักพัน มันย่อมแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว กระบวนการสอบสวนโรคจึงต้องเหนื่อยและหนัก และการรายงานประจำวันก็ชัดเจนในตัวเลขว่าคนป่วยส่วนใหญ่มีที่มาที่ไปอย่างไร
อรชุน
ทำไมตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยที่แถลงกันรายวันถึงยังไม่ต่ำกว่าหลักร้อย ไม่น้อยกว่าหลักสิบหรือหยุดนิ่งสนิทเหมือนช่วงเดือนกว่า ๆ ก่อนหน้านี้ คำตอบหาได้ง่ายมาก มันก็เกิดจากสนามมวยลุมพินีและสถานบันเทิงทั้งหลายในช่วงที่ไม่มีความร่วมมือตามคำสั่งของท่านผู้นำ เมื่อหนึ่งคนติดแล้วคนไปสุมหัวรวมตัวกันหลักร้อยหลักพัน มันย่อมแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว กระบวนการสอบสวนโรคจึงต้องเหนื่อยและหนัก และการรายงานประจำวันก็ชัดเจนในตัวเลขว่าคนป่วยส่วนใหญ่มีที่มาที่ไปอย่างไร
ถ้าบอกว่าสถานการณ์เรื่องตัวเลขของวันนี้คือผู้ป่วยที่รับเชื้อในวันนั้น ย้อนหลังไปแค่ 6 มีนาคมจุดเกิดเหตุใหญ่ ณ เวทีมวยลุมพินี แล้วตัวเลขต่อไปข้างหน้าที่กระบวนการสอบสวนโรคยังสาวไปไม่ถึง จะมีคนรับเชื้อโดยไม่รู้ตัวและยังไม่ปรากฏอาการอีกจำนวนเท่าไหร่ ไม่มีใครอยากคาดเดา หากมันแพร่ง่ายและได้รับเชื้อกันมากก็เป็นเรื่องน่าขนลุก แต่ถ้าคนที่ติดเชื้อรู้ตัวแล้วกักตัวหรือไม่ได้ไปสุงสิงกับใครมาก ก็ภาวนาว่า ภายในเดือนนี้ขอให้ตัวเลขในบ้านเราลดลงไปสู่สถานการณ์ที่ดีด้วยก็แล้วกัน
ขณะที่ ประเด็นการบริหารสถานการณ์วิกฤติฉุกเฉิน ปมที่ยังค้างคาใจคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้คือ สต๊อกหน้ากาก 200 ล้านชิ้น หลัง วิษณุ เครืองาม ออกมาป่าวคาถาในฐานะ “บิดาแห่งการยกเว้น” ขอให้ทุกคนลืมตัวเลขนั้นเสีย ก่อนจะตามมาด้วยการปฏิเสธหน้าตาเฉยของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สิ่งที่พูดไปเมื่อ 30 มกราคมนั้น เป็นสต๊อกวัตถุดิบไม่ใช่หน้ากาก เป็นอันว่า สื่อที่ไปร่วมทำข่าวกันในเวลานั้นไม่เข้าใจข้อความที่ท่านรัฐมนตรีสื่อสาร เลยทำให้การนำเสนอข่าวผิดพลาด
อย่างนี้จะเรียกว่า “สันดานหนังสือพิมพ์” เหมือนอย่างที่อดีตนายกฯ ผู้ล่วงลับ สมัคร สุนทรเวช เคยว่าไว้ในอดีตหรือเป็นเรื่องของ “สันดานนักการเมือง” ที่คิดอะไรไม่ออกก็โยนเป็นเรื่องการนำเสนอของสื่อมวลชนที่ไม่ถูกต้องไปเสียทุกครั้ง แต่ก็น่าเสียดายที่คนซึ่งออกมาปฏิเสธและอ้างว่าตัวเองไม่ได้พูดเรื่องสต๊อกหน้ากากอนามัยนั้น ในอดีตก็เคยเป็นคนในแวดวงเหมือนกันในฐานะนักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองชื่อดัง วันนี้หัวโขนที่เปลี่ยนไปมันจึงทำให้คนเราลืมคำว่าสำนึกที่ดีต่อการนำเสนอข้อเท็จจริงต่อประชาชนไปแล้วกระมัง
แต่ก็อย่างว่า ความเชื่อถือเชื่อมั่นมันไม่ได้อยู่ที่คำพูดของใคร และก็ไม่มีใครจะไปบังคับให้คนเชื่อหรือคล้อยตามในสิ่งที่ตัวเองพูด ดังนั้น ประชาชนก็มีสิทธิที่จะสงสัยและตั้งข้อคำถามกันต่อไป ขณะเดียวกันเมื่อได้ฟังในสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์อธิบายต่อปมปัญหาหน้ากากอนามัยแล้ว ก็แสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมตายเดี่ยว ต้องลากให้มีผู้รับผิดชอบร่วม เมื่อยืนยันว่า เรื่องการผลิตความจริงแล้วเป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนการตรวจสอบคุณภาพเป็นสิ่งที่คณะกรรมการอาหารและยาหรืออย. ในการดูแลของกระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบ
จะอ้างเรื่องของหลักการและหน้าที่ไม่มีใครเถียง แต่ถ้าวกกลับมายังอำนาจและความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์ ยิ่งในบริบทหลังจากที่หน้ากากอนามัยประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมแล้ว สองสิ่งที่ต้องทำคือการทำให้ของไม่ขาดแคลนและควบคุมราคาไม่ให้สูงเกินกรอบที่กำหนด ถามว่าทั้งสองเรื่องนี้ ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังและประสบความสำเร็จหรือไม่ สิ่งที่เห็นและเป็นไปเป็นหลักฐานได้อย่างดี โดยเฉพาะการขาดแคลนในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์
ความจริงกรณีนี้คนจะไม่ถือสาหาความ ถ้ายอมรับความจริงกันเสียตั้งแต่แรกว่า มันเกิดข้อผิดพลาดในการประเมินกำลังการใช้ภายในประเทศ ทำให้มีการเร่งส่งออกไปต่างประเทศของผู้ผลิต รวมไปถึงมีการแห่กักตุนของพวกที่หากินบนความเดือดร้อนของประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งอย่างหลังได้ดำเนินการตรวจสอบและเอาผิดอย่างเต็มที่แล้ว แต่เมื่อไม่ได้พูดความจริง มิหนำซ้ำ ยังส่อไปในทางที่จะปกปิดหรือมีการช่วยเหลือพวกพ้องอีกต่างหาก จึงไม่ต้องโวยวายหากสังคมยังจะคงมีปุจฉาต่อประเด็นนี้ต่อไป
สำหรับการเฝ้าระวังและเพิ่มความเข้มข้น ผ่านประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นั้น มันคงได้ผลไม่เต็มที่หากยังทำเหมือนอย่างที่เป็นอยู่และอย่างที่ท่านผู้นำประกาศว่า การตรวจหาเชื้อขอให้เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจริง ๆ ถ้าไม่อยู่ในข่ายก็อย่าไปทำเพราะทำให้เปลืองทั้งอุปกรณ์ งบประมาณและเสียเวลาบุคลากรทางการแพทย์เปล่า ๆ ซึ่งมันน่าจะสวนทางกับเป้าหมายที่ต้องการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ จำกัดวงการแพร่ระบาดของรัฐบาล
เพราะฟัง ศาสตราจารย์นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงสถานการณ์ในเวลานี้แล้ว รู้สึกว่าสิ่งที่ฝ่ายกุมอำนาจทำน่าจะเดินคนละทาง เนื่องจากหมอยงบอกว่า มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมา สามารถลดการแพร่กระจายของโรคมาได้ระดับหนึ่ง จากอำนาจการแพร่กระจายปกติ 1 คน แพร่โรคต่อ 2.5 คน ลดลงเหลือ 1 คนแพร่ไป 1.5 คน
อัตราดังกล่าวยังไม่เป็นที่พอใจ จะต้องลดให้เป็น 1 หรือน้อยกว่า 1 ให้ได้ ต้องมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นจึงจะควบคุมโรคได้ และมาตรการดังว่าประกอบไปด้วยการวินิจฉัยโรคให้ได้รวดเร็วและให้ได้มากที่สุด โดยการตรวจผู้สัมผัส ผู้ต้องสงสัยเพิ่มขึ้นและต้องออกผลให้รวดเร็ว ตรวจจำนวนผู้ต้องสงสัยเพิ่มขึ้น เพื่อควบคุม กักกัน ไม่ให้โรคแพร่กระจาย ผู้ติดเชื้อทุกคนจะต้องได้รับการดูแล ควบคุม ไม่ให้เกิดอาการมากหรือรุนแรงโดยรักษาแต่เริ่มแรกรวดเร็ว และต้องลดการแพร่กระจายโรคได้
ปัญหาที่พบคือ หลายรายของผู้ติดเชื้อไม่รู้ตัวเอง บางรายไม่คิดว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ขณะที่กระบวนการวินิจฉัยของแพทย์ของผู้ที่สงสัยว่าตัวเองจะติดเชื้อ เมื่อวิเคราะห์แล้วเห็นว่าไม่เข้าข่ายก็ไม่มีการตรวจหาเชื้อ เมื่อเป็นเช่นนี้โอกาสที่จะพบผู้ติดเชื้อเพื่อเข้าสู่กระบวนการตามที่หมอยงเสนอก็เป็นไปได้ยาก เวลานี้ต้องยอมรับความจริงว่า มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม การดูแลตัวเองของประชาชนนั้นดีขึ้นกว่าระยะเริ่มแรกเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันการแพร่ของเชื้อโรคก็ขยายวงกว้างมากขึ้น จึงทำให้ทุกคนมีโอกาสได้รับเชื้อได้ง่ายขึ้น ดังนั้น เรื่องการตรวจหาเชื้อในวงกว้างน่าจะถึงเวลาที่ต้องทำกันแล้ว