
“ฟิทช์” หั่นเครดิตสากล BAY เหลือ “BBB+” แนวโน้มมีเสถียรภาพ
“ฟิทช์” หั่นเครดิตสากล BAY เหลือ "BBB+" แนวโน้มมีเสถียรภาพ
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Foreign Currency IDR) เป็น ‘BBB+’ จาก ‘A-‘ และปรับเป็น แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ จาก แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปรับลดอันดับเครดิตสากลของธนาคารแม่ ซึ่งคือ MUFG Bank, Ltd. (A-/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/a-) ซึ่งสะท้อนถึงการด้อยลงของความสามารถในการให้การสนับสนุนเป็นพิเศษนอกเหนือจากการดำเนินงานตามปรกติ (extraordinary support) แก่ BAY และฟิทช์ยังได้คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-Term Foreign Currency IDR) ของธนาคารที่ ‘F1’ และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ที่ ‘bbb’
ทั้งนี้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวได้รับการคงอันดับเครดิตที่ ‘AAA(tha)’ และปรับเป็น แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ จาก แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิได้รับการคงอันดับเครดิตที่ ‘AAA(tha)’
สำหรับอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของ BAY ถูกปรับลดอันดับเป็น ‘AA(tha)’ จาก ‘AA+(tha)’ เพื่อให้สอดคล้องกับกรณีพื้นฐานของการจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตฉบับปรับปรุงใหม่ของฟิทช์
โดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตสนับสนุน อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของธนาคารมีปัจจัยหลักในการพิจารณาอันดับเครดิตการสนับสนุนจาก MUFG โดย BAY เป็นบริษัทลูกที่มีบทบาทสำคัญในเชิงกลยุทธ์ในภูมิภาคต่อ MUFG และมีการดำเนินการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพกับกลุ่มธนาคารแม่ในด้านการให้บริการธนาคารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ MUFG มีสัดส่วนการถือหุ้นใน BAY ที่ 76.9% และมีอำนาจการบริหารงานควบคุม
ขณะที่อันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY สะท้อนถึงโครงสร้างเครดิตของธนาคารเทียบกับธนาคารอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศของไทย โดยฟิทช์ประเมินแล้วว่าโครงสร้างเครดิตของ BAY ยังคงอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับระดับที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ BAY เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคาร
ทั้งนี้ BAY และ MUFG มีความเชื่อมโยงและผสานการดำเนินงานกันอย่างใกล้ชิดมาก เช่น ในด้านการตลาด ด้านการดำเนินงาน และด้านการบริหารความเสี่ยง BAY เป็นผู้ให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นในประเทศไทย และมีการร่วมมือกันในด้านธุรกิจกับบริษัทต่างๆ ในภูมิภาคของกลุ่ม MUFG ยังได้ให้การสนับสนุนด้านการดำเนินงานแก่ BAY ซึ่งรวมถึง ผลิตภัณฑ์ทางการเงินและระบบ IT
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต – อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ BAY ที่ ‘bbb’ แสดงถึงโครงสร้างเครดิตของตัวธนาคารเอง ซึ่งพิจารณาจากการที่ BAY เป็น 1 ใน 5 ธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านของเงินฝากที่ 11% ณ สิ้นปี 2562 นอกจากนี้ธนาคารมีการดำเนินงานที่หลากหลายและรองรับหลายกลุ่มลูกค้าและยังมีบริการทางการเงินที่ครบถ้วนและหลากหลาย นอกจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นแล้ว BAY ยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อลูกค้ารายย่อย
โดยอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินยังสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจจะเผชิญกับความท้าทายและเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส และเหตุกาณ์ดังกล่าวจะยิ่งส่งผลกระทบในเชิงลบต่อสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานในประเทศไทยที่อ่อนแอมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและทั่วโลกที่ชะลอตัว แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมาตรการผ่อนปรนเพื่อช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ แต่มาตรการเหล่านี้ไม่น่าจะหักล้างความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต่อลูกหนี้ที่มีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอหรือเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางได้ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานของธาคารไทยสามารถดูได้จาก “Coronavirus Outbreak Increases Challenges for Thai Banks’ Operating Environment” ลงวันที่ 2 เมษายน 2563
ทั้งนี้เนื่องจากระยะเวลาและแนวโน้มความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดของโคโรน่าไวรัสยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งตามสมมติฐานกรณีฐานของฟิทช์นั้นผลการดำเนินงานของ BAY อาจได้รับผลกระทบในช่วงระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญจะปรับตัวด้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2562 อย่างไรก็ตามอาจจะไม่ได้มากนักเมื่อเทียบกับธนาคารส่วนใหญ่ในประเทศ
โดยนอกจากระดับค่าใช้จ่ายการสำรองหนี้สูญ (credit cost) ที่อาจเพิ่มขึ้นแล้ว รายได้ของธนาคารก็อาจจะปรับตัวลดลงจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำรวมถึงรายได้ที่มิใช้ดอกเบี้ยที่ชะลอตัว ฟิทช์คาดว่าผลกำไรจากการดำเนินงานของธนาคารน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของธนาคารอย่างน้อยในอีก 2 ปีข้างหน้า