ก.ล.ต.ทำเฮียริ่งเกณฑ์ “Repo-Reverse Repo” เปิดทางบล.ทำธุรกรรมกับรายย่อย

ก.ล.ต.ทำเฮียริ่งเกณฑ์ "Repo-Reverse Repo" เปิดทางบล.ทำธุรกรรมกับรายย่อย


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการทำธุรกรรมการขายโดยมีสัญญาซื้อคืน (Repo) และการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน (Reverse Repo) โดยขยายประเภทหลักทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) สามารถทำธุรกรรม Repo และ Reverse Repo กับผู้ลงทุนรายย่อยได้ เพื่อช่วยบริหารจัดการสภาพคล่องและใช้ประโยชน์จากหลักทรัพย์ที่ถือครองได้

โดยคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) ในการประชุม เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 มีมติเห็นชอบในหลักการขยายประเภทหลักทรัพย์สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ ในการทำธุรกรรมการขายโดยมีสัญญาซื้อคืน (repo) และการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน (reverse repo) กับผู้ลงทุนที่ไม่ใช่ผู้ลงทุนสถาบัน เพื่อให้ บล. และผู้ลงทุนสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการสภาพคล่องและใช้ประโยชน์จากหลักทรัพย์ที่ถือครองได้ โดย บล. ต้องมีการบริหารควบคุมและจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ก.ล.ต.จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการทำธุรกรรมดังกล่าว โดยขยายประเภทหลักทรัพย์ที่ บล. สามารถทำธุรกรรม repo/reverse repo กับผู้ลงทุนที่ไม่ใช่ผู้ลงทุนสถาบันให้ครอบคลุมถึงหลักทรัพย์จดทะเบียนและหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดที่กำหนดวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนทุกวันทำการ (daily redemption fund) แต่ไม่รวมถึงหน่วยลงทุนที่มีข้อจำกัดด้านการโอน โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตามที่ประกาศกำหนด จากปัจจุบันที่กำหนดให้ทำได้เฉพาะตราสารหนี้ภาครัฐหรือหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade)

โดย ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไว้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=615 ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: [email protected] หรือ [email protected] จนถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2563

อนึ่งธุรกรรมการซื้อคืน (Repo) เป็นธุรกรรมการยืมเงินระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้โดยใช้ตราสารหนี้เป็นหลักประกัน หลักการทำงานของธุรกรรมการซื้อคืนจะทำโดยการที่ผู้กู้นำตราสารหนี้ไปขายให้กับผู้ขอกู้ และสัญญาว่าจะทำการซื้อคืนในราคาที่สูงกว่าที่ขายไปตอนแรก

Back to top button