“ดาวน์ฟิวเจอส์” พุ่งกว่า 500 จุด รับเฟดอัดฉีด 2.3 ล้านล้านดอลล์ อุ้มธุรกิจกระทบโควิด
"ดาวน์ฟิวเจอส์" พุ่งกว่า 500 จุด รับเฟดอัดฉีด 2.3 ล้านล้านดอลล์ อุ้มธุรกิจกระทบโควิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ เวลา 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์บวก 551.93 จุด หรือ 2.36% สู่ระดับ 23,985.50 จุด ขานรับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ในวันนี้ เพื่อเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ เฟดจะปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจที่มีพนักงานไม่เกิน 10,000 คน และมีรายได้ไม่เกิน 2.5 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยสินเชื่อดังกล่าวจะมีวงเงินขั้นต่ำอยู่ที่ 1 ล้านดอลลาร์ แต่ไม่เกิน 25 ล้านดอลลาร์
โดย เฟดระบุว่า โครงการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจมีวงเงินรวม 6.50 แสนล้านดอลลาร์ และนอกจากการปล่อยสินเชื่อกับภาคธุรกิจแล้ว มาตรการของเฟดยังรวมถึงโครงการประกันรายได้ของพนักงาน และมาตรการอื่นๆ
“ความสำคัญสูงสุดในขณะนี้ของสหรัฐคือการแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุข โดยให้การดูแลรักษาผู้ป่วย และควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ส่วนบทบาทของเฟดคือการช่วยเหลือและสร้างเสถียรภาพในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกจำกัดในระยะนี้ ซึ่งมาตรการของเราในวันนี้จะสร้างความเชื่อมั่นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะมีความแข็งแกร่งมากเท่าที่จะเป็นไปได้” นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ระบุ
นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ซึ่งจะจัดการประชุมฉุกเฉินผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในวันนี้ เพื่อหาข้อตกลงเกี่ยวกับการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน หลังจากที่ราคาน้ำมันได้ทรุดตัวลงตามอุปสงค์น้ำมันที่ลดลงทั่วโลกจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
โดยการประชุมดังกล่าวจะเริ่มขึ้นในวันนี้เวลา 16.00 น.ตามเวลาของกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย หรือตรงกับเวลา 21.00 น.ตามเวลาประเทศไทย
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คาดว่าที่ประชุมโอเปกพลัสในวันนี้จะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ ก่อนการประชุมรัฐมนตรีน้ำมันของกลุ่ม G20 ในวันพรุ่งนี้
ขณะที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ได้หารือกับผู้นำของรัสเซียและซาอุดีอาระเบียแล้ว ซึ่งเขาเชื่อว่าประเทศทั้งสองจะยุติการทำสงครามราคาน้ำมัน และจะบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิต 10-15 ล้านบาร์เรล/วัน เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด
อย่างไรก็ตาม นายบิจาน ซานกาเนห์ รมว.น้ำมันอิหร่าน ระบุว่า ควรมีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับตัวเลขการผลิตน้ำมัน ก่อนที่จะมีการประชุมโอเปกพลัส นอกจากนี้ สหรัฐและแคนาดาควรเข้าร่วมการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันในครั้งนี้
ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังจับตาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่า สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก โดยมีจำนวน 435,160 ราย และมีผู้เสียชีวิต 14,797 ราย และรัฐนิวยอร์กถือเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดในประเทศ จำนวน 151,171 ราย ตามมาด้วยนิวเจอร์ซีย์ มิชิแกน และแคลิฟอร์เนีย
นอกจากนี้ รัฐนิวยอร์กยังมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดในสหรัฐ จำนวน 6,268 ราย ตามมาด้วยนิวเจอร์ซีย์ มิชิแกน และหลุยเซียนา
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งขึ้นสู่ระดับ 6.6 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.25 ล้านราย
ทั้งนี้ เมื่อรวมตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่มีการรายงานในวันนี้รวมกับ 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ พบว่าตัวเลขดังกล่าวสูงกว่า 16 ล้านราย
สำหรับการปรับตัวขึ้นของตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานมีสาเหตุจากการที่ภาคธุรกิจได้พากันปิดกิจการ จากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก