“ดร.โกร่ง” ร่อนจดหมายนายกฯ ชี้พ.ร.ก. 4 แสนล้านเพื่อซื้อหุ้นกู้ ส่อเอื้อเอกชนบางราย!
“ดร.โกร่ง” ร่อนจดหมายถึงนายกฯ ชี้พ.ร.ก. 4 แสนล้านเพื่อซื้อหุ้นกู้ ส่อเอื้อเอกชนบางราย!
หลังจากที่ที่ประชุมครม.นัดพิเศษ เมื่อวันศุกร์ที่ 3 เม.ย.ผ่านมา มีมติรับในหลักการ การออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจชุดที่ 3 เห็นชอบให้ออก พ.ร.ก. 3 ฉบับ แบ่งเป็น 1.พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดสรรเงินจำนวน 500,000 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน ช่วยเอสเอ็มอี โดยปล่อยผ่านธนาคารพาณิชย์ 2.พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดสรรเงิน 400,000 ล้านบาท ซื้อตราสารหนี้เอกชนครบกำหนด และ 3.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน
ล่าสุดได้กลายเป็นประเด็นร้อน ที่ทำให้ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือ ดร.โกร่ง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ พร้อมด้วยอดีตผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. ได้แก่ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ดร.ศิริ การเจริญดี นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล นายเสรี จินตนเสรี ต้องทำจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และสำเนาถึง นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธปท. เพื่อขอให้ ธปท. ยุติการดำเนินการเรื่องการใช้วงเงิน 400,000 ล้านบาท รับซื้อตราสารหนี้บริษัทเอกชนโดยตรง ไม่ผ่านธนาคารของรัฐเหมือนเช่นกรณีปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนช่วยเอสเอ็มอี
เนื่องจากมองว่า ธปท. ต้องรักษาหลักการที่ธนาคารกลางควรเป็นเฉพาะนายธนาคารของรัฐบาล และเป็นแหล่งเงินสุดท้ายของธนาคารพาณิชย์ (Lender of the last resort) และอาจจะขยายไปถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาลด้วย เท่านั้น
โดยรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ซึ่งดำเนินรายการโดยนายดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และ นางสาวอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ก็ได้กล่าวในรายการถึงประเด็นร้อนนี้หลังจากที่ได้มีการพูดคุยส่วนตัวกับ ดร.โกร่ง ว่า ดร.โกร่ง พร้อมอดีตผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. ทำจม เปิดผนึกถึงนายกฯ สำเนาถึง ผู้ว่าการธปท. คัดค้าน พ.ร.ก. 400,000 ล้าน
ทั้งนี้ เนื่องจาก ธปท. จะเอาเงินตัวเอง 400,000 ล้าน ไปใช้แก้ปัญหาชีวิตบริษัทเอกชนใหญ่ๆทั้งหลายที่ระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ขาย แต่พอถึงคิวที่จะต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ปี 2563 มีเหตุให้ต้องสะดุด มีปัญหาเรื่องเงินจะไปไถ่ถอน ซึ่งทาง ธปท. จะช่วยด้วยการให้บริษัทเอกชนเหล่านั้นออกหุ้นกู้ใหม่ไปขายธปท. และเอาเงินที่ได้จาก ธปท. ไปไถ่ถอนหุ้นกู้รุ่นเก่า โดย ธปท. อธิบายว่า เป็นมาตรการจำเป็นเพื่อใช้ในการประคองตลาดเงินไม่ให้เกิดวิกฤติ ล้มเป็นโดมิโน่ แต่ ดร.โกร่งบอกว่า ทำแบบนี้เท่ากับธปท.ขุดหลุมฝังตัวเอง มันคือระเบิดเวลาที่จะระเบิดแบงก์ชาติให้แหลกเป็นจุล มีวิธีการดูแลตลาดเงินที่ดีกว่านั้น
นอกจากนี้ นายดนัย ยังวิเคราะห์รายละเอียดในจดหมายเปิดผนึกได้อย่างน่าสนใจว่า ดร.โกร่ง ไม่ได้ขัดแย้งในหลักการเข้าไปช่วยประคับประคองตลาดเงิน ไม่ได้ขัดแย้งในหลักการที่จะต้องเข้าไปดูแลเรื่องหุ้นกู้ของเอกชน แต่เห็นแย้งในวิธีการที่จะเข้าไปดำเนินการ ว่า ธปท.จะเข้าไปช่วยเอกชนรายไหน จะเข้าไปช่วยซื้อหุ้นกู้ของเอกชนรายไหน เกณฑ์ในการพิจารณาเป็นอย่างไร ในที่สุดคงหนีไม่พ้นคำว่าดุลยพินิจ ซึ่งจะก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในอนาคต เพราะอะไรที่เป็นดุลยพินิจ จะก่อให้เกิดข้อครหา และถ้าเกิดปัญหาฟ้องร้อง คราวนี้ก็จะเกิดภาพที่ไม่เคยเห็นในประเทศไหนมาก่อน คือ บริษัทเอกชนกับแบงก์ชาติฟ้องร้องกัน ฝ่ายไหนจะฟ้องฝ่ายไหนก็แล้วแต่
ยกตัวอย่างเช่น เอกชนจะฟ้องแบงก์ชาติเลือกปฏิบัติ เอื้อเจ้าสัว เฉพาะบริษัทเจ้าสัว แปลว่าอะไร ผมไม่ใช่เจ้าสัว ไม่ดูแลใช่มั้ย งั้นผมฟ้องร้อง แบงก์ชาติละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นต้น หรือหุ้นกู้ที่แบงก์ชาติเข้าไปช่วยซื้อ เจ้าบริษัทที่ออกหุ้นกู้ขายแบงก์ชาติ เกิดเบี้ยวโดยทุจริตหรือเบี้ยวโดยสุดจริตก้แล้วแต่ แบงก์ชาติก็ต้องฟ้องเอกชน เราก็จะได้เห็นภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไหนก็แล้วแต่ คือแบงก์ชาติ ธนาคารของประเทศ ฟ้องเอกชน ซึ่งกรณีนี้ นางสาวอมรรัตน์ ย้ำว่า ธนาคารของชาติควรดำรงสถานะความเป็นธนาคารของชาติ ไม่ควรลงไปเป็นคู่ขัดแย้ง หรือลงไปเป็นคดีความ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์
ส่วนทางออกที่ ดร.โกร่ง และคณะ เสนอแนะในจดหมายเปิดผนึก ว่าแทนที่จะแก้กฎหมายให้ ธปท.เข้าซื้อตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนที่จะครบกำหนดไถ่ถอน หรือตราสารหนี้ที่ออกใหม่โดยตรง รัฐบาลควรให้นโยบายสถาบันการเงินของรัฐบาล เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และหรือธนาคารเพื่อการเกษตรดำเนินการได้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ และไม่ต้องเข้าไปดำเนินการเองโดยตรง ไม่ต้องแก้กฎหมายเพราะหลักการของกฎหมายเดิมดีอยู่แล้ว
นายดนัยบอกว่า ตรงนี้น่าสนใจ ฝนตกไม่ทั่วฟ้าหรือไม่ เปรียบเทียบกับการปล่อยสินเชื่อพิเศษ หรือการจัดซอฟต์โลน ให้กับเอสเอ็มอี ทีกรณีนี้แบงก์ชาติเลือกปล่อยผ่านแบงก์พาณิชย์ เพราะแบงก์พาณิชย์เลือกเอาเงินแบงก์ชาติไปดูแลลูกค้าของแบงก์ตัวเอง ไม่ให้เป็นเอ็นพีแอล ฝนตกไม่ทั่วฟ้าหรือไม่ ที่ 400,000 ล้านที่แบงก์ชาติจะเข้าไปช่วยประคองตลาดเงิน ไมให้หุ้นกู้ default คือไม่ให้ผิดนัดกำหนดไถ่ถอน จะเกิดปัญหารูปแบบใหม่ในแวดวงตลาดเงิน เข้าไปช่วยซื้อหุ้นกู้บริษัท เอกชน แทนที่จะทำผ่านแบงก์ สถาบันการเงิน แต่แบงก์ชาติเอื้อมไปจัดการเองโดยตรง ซึ่งหากทำตามมาตรการแบบที่ช่วยเอสเอ็มอี ปล่อยกู้ผ่านแบงก์ หลักการความเป็นนาคารกลางก็ยังอยู่ ไม่ต้องแปดเปื้อนใดๆ
อย่างไรก็ตาม นายดนัย ได้เปิดประเด็นทิ้งท้ายให้ติดตามต่อผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ ว่ามีอินไซด์ เบื้องลึกเบื้องหลัง กรณี พ.ร.ก. 400,000 ล้าน เรื่องของเรื่อง มีการเข้าหารือกันในระดับฮาร์ดคอร์ของรัฐบาล ของหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจ ก่อนที่ครม.จะมีมติเห็นชอบ
โดยทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลมีการปิดห้องถกเครียด มีทั้งผู้คัดค้าน และไม่ฟังคำคัดค้าน ซึ่งผู้ที่คัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับพ.ร.ก.โดยตรง ได้แก่ นายประสงค์ พูนธเนศร ปลัดกระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายผยง ศรีวนิช MD ธนาคารกรุงไทย และอีก 2-3 คน ขณะที่ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าฯธปท.แสดงความเห็น 50-50 แต่คนที่ยืนยันเสียงแข็ง ว่าต้องทำวิธีการนี้เท่านั้น คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี