พาราสาวะถี
ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการแถลงของโฆษกศบค. นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน พบว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีกระโดดไป 111 รายเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา จากจำนวน 42 รายของผู้ที่เดินทางไปทำกิจกรรมทางศาสนาที่ประเทศอินโดนีเซีย แต่โดยภาพรวมถือว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยันหลังประกาศเคอร์ฟิว อยู่ในเลขสองหลักมาโดยตลอด ถือเป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งอย่างที่บอกยังเบาใจไม่ได้ ผ่อนปรนมาตรการที่เข้มงวดลงก็ไม่ได้
อรชุน
ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการแถลงของโฆษกศบค. นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน พบว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีกระโดดไป 111 รายเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา จากจำนวน 42 รายของผู้ที่เดินทางไปทำกิจกรรมทางศาสนาที่ประเทศอินโดนีเซีย แต่โดยภาพรวมถือว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยันหลังประกาศเคอร์ฟิว อยู่ในเลขสองหลักมาโดยตลอด ถือเป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งอย่างที่บอกยังเบาใจไม่ได้ ผ่อนปรนมาตรการที่เข้มงวดลงก็ไม่ได้
แต่อาจจะมีการผ่อนคลายในบางด้านสำหรับกิจกรรมที่จะส่งผลในแง่เศรษฐกิจของประเทศ ที่แน่ ๆ คือ กิจกรรมสงกรานต์ ปีนี้ทุกคนพร้อมใจกันที่จะงดไปโดยปริยาย มีการประกอบกิจกรรมทางศาสนาตามประเพณีบ้างประปราย ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่น่าหวั่นเกรง เพราะสถานที่ที่คนไปร่วมกิจกรรมที่ส่วนใหญ่ก็คือวัด ต่างก็มีมาตรการในการคัดกรอง คุมเข้ม ตามแต่วิถีของแต่ละหมู่บ้าน ชุมชน จะร่วมกันกำหนดขึ้น
นาทีนี้แม้แต่พระสงฆ์เองก็ต้องป่าวประกาศบอกญาติโยมว่า ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องแห่แหนกันมาทำบุญที่วัด ทยอยกันมา หรือถ้าเป็นไปได้ก็ใส่บาตรกันรายวันโดยเว้นระยะห่างตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนด ทั้งหมดไม่ใช่ว่าทุกคนกลัวกันไปหมด แต่ทั้งหมดหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการได้ร่วมกันหยุดการแพร่และรับเชื้อโดยใช่เหตุ จะเห็นได้ว่า ส่วนหนึ่งของตัวเลขที่ลดลงนั้นก็ล้วนมาจากความร่วมมืออันดีของประชาชนคนทั้งประเทศนั่นเอง ผนวกเข้ากับมาตรการของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม สิ่งจำเป็นที่ย้ำมาตั้งแต่ต้นก็คือ ภาครัฐจะต้องพูดความจริงเกี่ยวกับตัวเลขของผู้ติดเชื้อและบุคคลที่ต้องเฝ้าระวัง เช่นเดียวกันกับภาคประชาชนใครที่สัมผัสกับกลุ่มเสี่ยง สถานที่เสี่ยง ก็ต้องบอกความจริงกับเจ้าหน้าที่ด้วย เหมือนที่ นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ นายแพย์ผู้ทรงคุณวุฒิและโฆษกกระทรวงสาธารณสุขย้ำ ทุกข้อมูลต้องจริง และ Real-time เพื่อควบคุมและรับสถานการณ์ เพราะหากไม่พูดความจริงกันแล้ว ในแง่ของการเฝ้าระวังและการดูแลรักษาจะเป็นเรื่องยุ่งยากตามมาในอนาคต
อย่าลืมเป็นอันขาดว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของเรานั้นมีไม่มาก หากเกิดการระบาดในวงกว้าง ย่อมจะมีปัญหาในการดูแล รักษาผู้ป่วย ความจริงไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เป็นกันทั้งโลก จะเห็นได้จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่ออกมาเปิดเผยล่าสุดว่า ทั้งโลกนั้นขาดแคลนบุคลากรที่เป็นพยาบาลถึง 6 ล้านคน และก็จะเห็นได้ว่าบ้านเราสภาการพยาบาลก็เพิ่งเปิดรับสมัครพยาบาลอาสา เพื่อไว้รองรับผู้ป่วยหนักถึง 400 รายเลยทีเดียว
ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลที่เป็นจริงไม่ว่าจะเป็นฝ่ายของภาครัฐและภาคประชาชนต้องสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตามที่โฆษกกระทรวงสาธารณสุขว่า เราวิ่งมาราธอนไม่ใช่วิ่ง 100 เมตร บางช่วงต้องเร็ว บางช่วงต้องออมแรง วันนี้และภายภาคหน้าอย่างน้อย 2 ปีเราก็อยู่ของเรา โควิด-19 ก็อยู่ของมัน ป้องกันอย่าให้มันมาพบกับเรา ทั้งตั้งใจและบังเอิญ สำคัญที่สุดในวันนี้คือป้องกันการติดต่อและแพร่เชื้อ ควบคุมโรคให้เร็วที่สุด และป้องกันกลุ่มเสี่ยง ดำรงชีวิตด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง
เช่นเดียวกัน ย้ำกันมาตลอดถ้าประชาชนร่วมมือ ทำตาม ทำได้ร้อยละ 90 ตามมาตรการที่ภาครัฐรณรงค์เราชนะแน่นอน โรคจะสงบ สิ่งสำคัญคือเราต้องปรับทัศนคติ ความรู้ พฤติกรรมการดูแลสุขภาพและป้องกันโรค ทำให้ยั่งยืนต่อเนื่อง มองไปข้างหน้า โรคโควิด-19 จะหยุดระบาด จะสงบ โดยภูมิคุ้มกันธรรมชาติ ภูมิคุ้มกันหมู่ หรือภูมิคุ้มกันมนุษย์ประดิษฐ์ เช่น วัคซีน ต้องเตรียมความพร้อมวัคซีนและที่สำคัญ ยา เตียง บุคลากร ต้องพร้อมในสถานการณ์เลวร้ายที่สุดเสมอ
วันนี้ โชคดีที่ประเทศไทยหลังเหตุการณ์สนามมวยลุมพินีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังกลับตัวได้เร็วแล้วดำเนินมาตรการที่เข้มข้น รัดกุม มันจึงทำให้สถานการณ์ไม่เลวร้าย ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่เราอยู่ในหน้าร้อนพอดี จึงมีส่วนช่วยเสริม ดังนั้น เป้าหมายของฝ่ายที่ควบคุม ดูแล จึงพยายามที่จะขีดวงและระงับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ได้ก่อนที่เราจะเข้าสู่ฤดูฝน เพราะหากถึงเวลานั้นสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น มันจะมะรุมมะตุ้มและแยกแยะกันลำบากระหว่างโรคหวัด ไข้หวัดธรรมดากับไวรัสร้ายชนิดนี้
ประเด็นของการควบคุมโรคพิจารณาจากแนวโน้มแล้วน่าจะพอเบาใจได้บ้าง สิ่งที่หลายคนเป็นห่วงกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่และไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด คงเป็นเรื่องความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตของประชาชนมากกว่า การแจก 5 พันบาทแม้ว่ารัฐบาลจะเดินหน้าโอนเงินกันมาต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมาแล้ว ก็ยังคงเกิดข้อกังขาและอธิบายกันไม่เลิกกับหลักเกณฑ์การพิจารณาของคนที่ไม่ผ่านการคัดกรองด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ
บอกไว้แล้วว่า การคลอดมาตรการที่พุ่งเป้าไปที่การแจกเป็นหลัก เพื่อหวังบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยไม่ได้วางกติกา กฎ เกณฑ์ไว้ให้ชัดเจนเสียตั้งแต่ต้น เมื่อเข้าสู่หมวดการดำเนินการย่อมที่จะเกิดข้อคำถาม เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความโปร่งใสตามมาอย่างช่วยไม่ได้ ยิ่งอธิบายกันไปมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเหมือนการแก้ตัว กับปุจฉาที่ฝ่ายกระทรวงการคลังบอกว่าใครที่ผ่านการประเมินรอบแรกให้ยื่นอุทธรณ์ได้นั้น ในเมื่อคนเดิม คุณสมบัติเดิม มันจะพลิกแพลงกันแบบไหนเพื่อให้ได้รับเงินจำนวนดังกล่าว
ขณะนี้ ไม่ได้มีแค่มาตรการนี้เท่านั้น ยังจะเดินหน้าเรื่องการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนตามมาอีก มันเลยยิ่งทำให้คนเป็นกังวลว่าระบบและวิธีกลั่นกรองของกระทรวงการคลังนั้น มันจะราบรื่น เรียบร้อยอย่างนั้นหรือ ยิ่งนานวันยิ่งจะเห็นได้ว่าความเดือดร้อนของผู้คนนั้นมันขยายวงไปเรื่อย ๆ เช่นนี้แล้วมาตรการการช่วยเหลือจะต้องครอบคลุมกันอย่างไร เพราะทุกคนต่างก็มีเหตุผลเดียวกันคือประสบปัญหาจากภาวะการระบาดของโควิด-19 และมาตรการอันเข้มข้นของภาครัฐ
คงต้องจับตาดูการประชุมครม.วันนี้อีกรอบ หลังการนั่งหัวโต๊ะถกกับรัฐมนตรีทั้งคณะแล้ว ท่านผู้นำจะมีคำชี้แจงใด ๆ ออกมาอีกหรือไม่ ในแง่ของความทุ่มเท ติดตามการแก้ไขปัญหาโรคระบาดมาจนถึงตอนนี้ต้องยอมรับว่าทำได้ดี อย่าให้มาตกม้าตายในด้านของการเยียวยา ช่วยเหลือประชาชนก็แล้วกัน เพราะจุดนี้สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันหมายถึงความสามารถในการบริหารจัดการของคนที่เป็นผู้นำ ไม่ใช่แค่สั่งซ้ายหันขวาหันเพียงอย่างเดียว