พาราสาวะถี
มองภาพของประชาชนที่พากันไปขอพบ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีคลังถึงกระทรวง ก่อน ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดคลัง จะควง ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือสศค. มาชี้แจงกับผู้ที่มารวมตัวกัน ท่ามกลางความไม่พอใจของฝ่ายที่มารวมตัวกัน เพราะการยื่นอุทธรณ์ที่จะเปิดให้ทำผ่านเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกันนั้น อย่างเร็วคือวันที่ 19 เมษายนโดยอาจจะช้าไปถึง 22 เมษายน มันไม่น่าจะทันกับความเดือดร้อนที่เผชิญอยู่
อรชุน
มองภาพของประชาชนที่พากันไปขอพบ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีคลังถึงกระทรวง ก่อน ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดคลัง จะควง ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือสศค. มาชี้แจงกับผู้ที่มารวมตัวกัน ท่ามกลางความไม่พอใจของฝ่ายที่มารวมตัวกัน เพราะการยื่นอุทธรณ์ที่จะเปิดให้ทำผ่านเว็บไซต์เราไม่ทิ้งกันนั้น อย่างเร็วคือวันที่ 19 เมษายนโดยอาจจะช้าไปถึง 22 เมษายน มันไม่น่าจะทันกับความเดือดร้อนที่เผชิญอยู่
ก่อนที่จะตามมาด้วยคำขู่ว่าถ้าเนิ่นช้าออกไปจะไปจุดไฟเผาตัวเองหน้าทำเนียบรัฐบาล หากมองผ่าน ๆ ก็อาจจะคิดว่าเป็นเพียงแค่อารมณ์ชั่ววูบหรือความโมโห แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่าผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเวลานี้มันกระจายตัวไปทุกหย่อมหญ้า ไม่ได้เลือกอาชีพ ฐานะ ทุกคนโดนกันหมด พวกที่สายป่านยาวก็ไร้ปัญหา อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ทำให้คนในรัฐบาลพอใจได้ แต่คนหาเช้ากินค่ำ กลุ่มคนที่ต้องดิ้นรนสู้ชีวิตมันไม่อาจอยู่เฉยได้ บางรายต้องตกงานโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ดังนั้น การขีดเส้นกำหนดคุณสมบัติโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ มันจึงไม่น่าจะสแกนความเดือดร้อนของประชาชนที่แท้จริงและทั่วถึงได้ ยิ่งจำนวนคนลงทะเบียนถึง 27 ล้าน ต่อให้วันนี้รัฐบาลจะแทงกั๊กยกตัวเลข 3 ล้านหรือ 9 ล้านที่บอกไว้ทิ้งไป ก็เชื่อได้เลยว่า ยังไม่สามารถให้ความช่วยเหลือ เยียวยาได้ครอบคลุมกลุ่มเดือดร้อนในจำนวนที่ควรจะเป็น การอ้างว่าให้รอก่อนยังมีล็อตสามล็อตสี่ตามมา ถามว่าความหิวโหย หนี้สินที่กองอยู่ตรงหน้ามันรอได้หรือไม่
ไม่ต้องอ้างต่อไปว่า ก็มีชุดความช่วยเหลืออื่น ๆ ที่ตามมาในแง่ของการชะลอหรือพักหนี้ให้อยู่แล้ว เพราะสิ่งที่ดำเนินการไปนั้น หาได้ตอบโจทย์ให้กับคนที่เดือดร้อนไม่ มิหนำซ้ำ ยังจะเป็นการสร้างภาระให้กับคนที่เข้าร่วมโครงการกันเป็นเหมือนกับดักแห่งอนาคตหลังพ้นวิกฤติโควิด-19 เข้าไปอีกต่างหาก ดังนั้น เวลานี้เรื่องมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดนั้นไม่น่าห่วงอีกแล้ว เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
สิ่งที่จะเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจและทำให้ประชาชนร่วมมือกับภาครัฐอย่างแข็งขันย่อมหนีไม่พ้นเรื่องของมาตรการเยียวยา ยิ่งมีข่าวการวางงบประมาณที่จะกู้กันไว้ถึงหลัก 1.9 ล้านล้านบาท คนยิ่งคาดหวัง แต่มาตรการแรกแจก 5 พันก็ทำให้เห็นถึงสภาพของปัญหาความไม่พร้อมในการดำเนินการกันแล้ว ประเด็นเอไอหลายคนตั้งคำถาม จนล่าสุด สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ถึงขั้นอาสาจะเป็นตัวช่วยสแกนอีกแรงเพื่อยืนยันสถานะลูกบ้านในปกครองของตัวเอง
ความจริงหากใช้กลไกแบบนี้เป็นตัวเสริม โดยที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอีเอส ออกแบบแอปพลิเคชันให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ใช้ในการยืนยันสถานะของลูกบ้านร่วมกับเอไอของกระทรวงการคลัง น่าจะช่วยลดปัญหาความไม่พอใจของประชาชนได้ในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ยังดีกว่าหว่านแห สะเปะสะปะ ด้วยกรอบที่ออกแบบไว้ของคนที่ไม่ได้ใกล้ชิด รู้จักกันเป็นการส่วนตัว ถ้ารอบคอบกันหน่อยไม่ต้องรีบแจก ความวุ่นวายก็ไม่น่าจะมากขนาดนี้
ไม่เพียงแต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่ออกโรงมาปกป้องสิทธิของประชาชนในความดูแลของตัวเองเท่านั้น เทพไท เสนพงศ์ ก็แสดงความเป็นห่วงในประเด็นของคนจำนวนไม่น้อยที่ถูกตัดสิทธิออกด้วยเหตุผลการมีอาชีพเกษตรกรซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ต้องเสียสิทธิ และไม่สามารถไปรับสิทธิการเยียวยาในกลุ่มเกษตรกรได้ เพราะไม่มีชื่อในบัญชีการขึ้นทะเบียนของเกษตรกร ทำให้เสียโอกาสไปทั้ง 2 กลุ่ม หากเป็นไปตามนี้แรงกระแทกอันหนักหน่วงจะเกิดขึ้นอีกหลังรัฐบาลเดินหน้าเยียวยากลุ่มเกษตรกร
นอกจากนี้ เทพไทยังไม่เชื่อด้วยว่าการเปิดให้ประชาชนอุทธรณ์นั้นสุดท้ายจะได้รับการพิจารณาจริง หากแต่นี่เป็นเพียงการแก้เกี้ยวในข้อผิดพลาดการคัดกรองของระบบเอไอมากกว่า ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระความยุ่งยากให้กับประชาชนขึ้นมาอีก รัฐบาลต้องยอมรับความจริงว่าระบบเอไอมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้ และวิธีการนี้อาจสร้างความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมให้กับประชาชนได้ แต่การเดินมาถึงจุดนี้แล้ว ไม่มีทางที่รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงการคลังจะยอมรับว่าสิ่งที่เกิดเป็นความผิดพลาดของตัวเอง
สิ่งที่จะช่วยยืนยันอีกประการว่าความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่สวนทางกับสิ่งที่รัฐบาลจัดเตรียมไว้ให้คงเป็นเสียงร้องเรียนที่ผ่านมาสายด่วน 1111 ซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ภูมิใจเสนอมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ดูแลงานส่วนนี้โดยเฉพาะ ยอมรับว่า ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคมจนถึงวันที่ 12 เมษายน มีคนร้องเรียน 62,018 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 56.8 ของจำนวนคนที่โทรศัพท์เข้ามาทั้งหมด
โดยส่วนใหญ่เป็นการขอให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้ครบทุกกลุ่ม แม้อาจจะไม่สามารถยกมาเป็นเหตุผลหลักว่านี่คือเสียงของประชาชนทั้งประเทศ แต่หากใช้หลักการสุ่มก็พอจะทำให้เห็นได้ว่า มาตรการเยียวยา 5 พันบาทที่รัฐได้วางกรอบไว้นั้น มีคนจำนวนไม่น้อยที่เดือดร้อนจริงไม่ได้รับอานิสงส์ตรงจุดนั้น และยังมองไม่เห็นว่าหลังจากนี้ไปคนเหล่านั้นจะได้รับการช่วยเหลือผ่านมาตรการใด ยิ่งเนิ่นช้าออกไปโดยที่สถานการณ์โควิดก็ยังหาจุดยุติไม่ได้ เกรงว่ามันจะเป็นบ่อเกิดของปัญหาอื่นตามมา
ที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของอาชญากรรม จุดเล็ก ๆ ที่มองข้ามไม่ได้คงเป็นกรณีของพ่อแม่ที่พาลูกขี่มอเตอร์ไซค์มาขโมยไข่ที่ปทุมธานี เป็นภาพสะท้อนของความอดอยาก ขาดรายได้ ซึ่งคนที่ก่อเหตุไม่น่าจะใช่โจรโดยสันดาน จากจุดเล็ก ๆ เช่นนี้ผู้นำที่ดีต้องมองไปถึงภาพใหญ่ ไม่ใช่แค่แสดงความห่วงใย แต่การตัดสินใจและเร่งรัดดำเนินการถือเป็นจุดชี้วัดศักยภาพในการบริหารและการตัดสินใจของผู้นำที่ดี อย่าทำแค่ตีหน้าเศร้า ขอความเห็นใจหรือบางทีก็กระทืบเท้าขู่
ไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรหรือไม่ แต่การที่พรรคก้าวไกลเปิด “เว็บไซต์ทำไมไม่ได้ 5 พันดอทคอม” มารับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ถูกตัดสิทธิ์ นี่เป็นการเล่นกับอารมณ์ของคนพลาดหวัง เจตนาเชื่อได้ว่าเป็นความหวังดี แต่หากสื่อสารผิดพลาดหรือขยับกันไปในทิศทางที่ควบคุมกันไม่ได้ ก็พึงระวังจะเป็นการปลุกระดมในช่วงที่มีการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากที่ต้องการช่วยจะพากันซวยไปเสียฉิบ คิดกันให้ดี ดำเนินการกันให้รัดกุม รอบคอบก็แล้วกัน