WTI ร่วง 10% แตะ 20.11 ดอลลาร์/บาเรล ต่ำสุดรอบ 2 สัปดาห์ หลังนลท.ยังวิตกดีมานด์น้ำมันทรุด
WTI ร่วง 10% แตะ 20.11 ดอลลาร์/บาเรล ต่ำสุดรอบ 2 สัปดาห์ หลังนลท.ยังวิตกดีมานด์น้ำมันทรุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ (14 เม.ย.) โดยนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันที่ทรุดตัวลงเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ได้บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังได้รับแรงกดดันหลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ร่วงลง 2.30 ดอลลาร์ หรือ 10.3% ปิดที่ 20.11 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.ปีนี้
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 2.14 ดอลลาร์ หรือ 6.7% ปิดที่ 29.60 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปิดร่วงหลุดจากระดับ 21 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับความต้องการใช้น้ำมันที่ถดถอย หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้ประเทศต่างๆทั่วโลกประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์และระงับการเดินทางเพื่อควบคุมการติดเชื้อ
ทั้งนี้ นักลงทุนยังกังวลว่า ความต้องการใช้น้ำมันที่ทรุดตัวลงอาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะปริมาณน้ำมันล้นตลาด แม้ว่ากลุ่มโอเปกพลัส ได้บรรข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ไปจนถึงสิ้นเดือนมิ.ย. จากนั้นจะปรับลดการผลิต 8 ล้านบาร์เรล/วันตั้งแต่เดือนก.ค.ไปจนถึงสิ้นปี 2563 และจะปรับลด 6 ล้านบาร์เรล/วันตั้งแต่เดือนม.ค.2564 ไปจนถึงเดือนเม.ย.2565
ด้านนักวิเคราะห์จากบริษัทไอเอ็นจีกล่าวว่า แม้กลุ่มโอเปกพลัสได้ปรับลดกำลังการผลิตลงค่อนข้างมาก แต่ก็อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ตลาดน้ำมันกลับสู่ภาวะสมดุลได้ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้
ขณะที่ ด้านนักวิเคราะห์จากบริษัทชไนเดอร์ อิเล็กทริก กล่าวว่า ในขณะที่โอเปกพลัสบรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเกือบ 10 ล้านบาร์เรล/วัน แต่ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกทรุดตัวลงราว 20% – 30% ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวบ่งชี้ว่าจะเกิดภาวะปริมาณน้ำมันล้นตลาด
นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังได้รับแรงกดดัน หลังจาก IMF ระบุว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะประสบกับวิกฤตการเงินที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1930 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 3% ในปีนี้ ซึ่งสวนทางการคาดการณ์ในเดือนม.ค.ที่ระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 3.3% ในปีนี้
ด้านนักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ของสหรัฐ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) มีกำหนดเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในวันนี้ เวลา 21.30 น.ตามเวลาไทย ขณะที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของเอสแอนด์พี โกลบอล แพลทส์ คาดการณ์ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะพุ่งขึ้น 10.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 10 เม.ย.