“คลัง” เล็งเพิ่มสิทธิ์ นร.-น.ศ.ทำงานพิเศษ รับเงินเยียวยา 5,000 บาท
"กระทรวงการคลัง" เล็งเพิ่มสิทธิ์ นร.-น.ศ.ทำงานพิเศษ ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ผ่านเว็บไซต์ "เราไม่ทิ้งกัน.com"
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผ่านรายการโทรทัศน์เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (16 เม.ย.63) ว่า จะมีการปรับเงื่อนไขในการรับเงินเยียวยา 5,000 บาท เพื่อให้นักเรียน-นักศึกษาที่ต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพด้วยนั้น สามารถมีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาได้ด้วย จากเดิมที่จะไม่ให้สิทธิ์แก่นักเรียน-นักศึกษา
ทั้งนี้ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนและมีข้อเสนอแนะเข้ามาว่านักศึกษาบางคนต้องเรียนไปด้วยและทำงานเพื่อเลี้ยงครอบครัวไปด้วย ซึ่งเมื่อสถานที่ทำงานต้องปิดชั่วคราวหรือถูกเลิกจ้าง จึงถือว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เช่นกัน
ดังนั้น ในสัปดาห์หน้าที่จะเริ่มเปิดให้อุทธรณ์หรือทบทวนสิทธิ์ในเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com นั้น กระทรวงการคลังจะมีกลไกในการทบทวนสิทธิ์รับเงินเยียวยา 5,000 บาทของนักเรียนนักศึกษาด้วย
“กลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่ทำงานด้วยและเรียนไปด้วย มีการเสนอให้ช่วยทบทวนสิทธิ์ ซึ่งกระทรวงการคลังจะเข้าไปตรวจสอบในส่วนนี้ให้ ถ้าทำงานจริงจะได้รับเงินในส่วนนี้” นายลวรณ กล่าว
นอกจากนี้ยังระบุว่า สำหรับประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่เบื้องต้นไม่ผ่านเกณฑ์คัดกรองได้รับเงินเยียวยานั้น ในสัปดาห์หน้าก็สามารถมายื่นขอทบทวนสิทธิ์ได้เช่นกัน ผ่านทางเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com
“การทบทวนสิทธิ์นี้ เปิดให้กับทุกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับผลการคัดกรองในเบื้องต้นของเรา มาขอให้เราทบทวนสิทธิได้ เราเปิดกว้าง” นายลวรณ ระบุ
ส่วนกรณีที่คำสั่งนายกรัฐมนตรี เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น นายลวรณ มองว่า รัฐบาลมีเจตนาดีที่ต้องการให้การเยียวยาผลกระทบดังกล่าวครอบคลุมทั่วถึงประชาชนทุกกลุ่ม คงไม่ใช่การใช้กลไกของรัฐบาลเข้ามาครอบหรือกำกับกระทรวงการคลังตามที่มีการตั้งข้อสังเกตกัน
“บางทีกระทรวงการคลังอาจดูอยู่แค่กลุ่มนี้ จึงไม่แน่ใจว่าจะตกหล่นหรือไม่ ท่านนายกฯ มีนโยบายชัดเจนว่าคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดต้องได้รับการเยียวยาทุกคน ทุกกลุ่ม ดังนั้นจึงเป็นที่มาของคณะกรรมการชุดนี้ ส่วนกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาจจะมีแนะนำมาได้ว่ายังมีกลุ่มใดที่ตกหล่นไป ก็สามารถเพิ่มเติมเข้ามาได้” นายลวรณ ระบุ
โดยเชื่อว่าหลังจากที่ภาครัฐออกมาตรการเยียวยาให้กับ 3 กลุ่มใหญ่แล้ว คือ กลุ่มที่อยู่ในข่ายได้รับ 5,000 บาท, กลุ่มประกันสังคม และกลุ่มเกษตรกร ซึ่งประเมินว่าจะครอบคลุมได้ 90% ของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ส่วนที่เหลือนั้นก็จะเป็นในส่วนที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งกระทรวงแรงงานที่จะเข้ามาช่วยดูแลเพิ่มเติม คือ กลุ่มคนพิการ คนสูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ซึ่งเมื่อรวมกันทั้งหมดนี้ ก็เชื่อว่าจะทำให้การเยียวยาสามารถครอบคลุมไปถึงประชาชนทุกกลุ่มอย่างแน่นอน