PTT มุ่งบริหารสภาพคล่องรับมือวิกฤติโควิด สั่งทบทวนแผนลงทุน-ลดกำลังการกลั่น

PTT มุ่งบริหารสภาพคล่องรับมือวิกฤติโควิด สั่งทบทวนแผนลงทุน-ลดกำลังการกลั่น


นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า กลุ่มปตท.อยู่ระหว่างทบทวนแผนการบริหารงานในช่วงเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

โดยมุ่งเน้นการบริหารสภาพคล่องและเงินสดที่มีอยู่ในมือให้มีความเหมาะสม พร้อมกับทบทวนแผนการลงทุน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่อย่างโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในสหรัฐ ของบมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล (PTTGC) โครงการผลิตอะโรเมติกส์ (Maximum Aromatics Project :MARS) ในไทย ของบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC)

นอกจากนี้ ยังเตรียมปรับลดค่าใช้จ่ายดำเนินการ (OPEX) ที่ไม่จำเป็นในระดับหลักพันล้านบาท โดยจะรายงานสถานการณ์ต่าง ๆ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันที่ 30 เม.ย.นี้  ขณะที่การทบทวนสถานการณ์และแผนการลงทุนและการบริหารสภาพคล่องของกลุ่มปตท.หลังจากนี้จะมีขึ้นในทุกเดือนจากเดิมที่จะมีทบทวนทุก 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงการที่ลงทุนไปแล้ว ทั้งโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ซึ่งเป็นการขยายกำลังการกลั่นและเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่นของบมจ.ไทยออยล์ (TOP) โครงการโรงงานโอเลฟินส์แห่งใหม่ ของ PTTGC โครงการคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แห่งที่ 2  ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ  โรงแยกอากาศ ของปตท. ก็ยังคงเดินหน้า เป็นต้น

ส่วนโครงการร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรม มาบตาพุด ระยะ 3 ยังเดินหน้าซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการถมทะเล ขณะที่โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 อยู่ระหว่างเจรจารายละเอียดเพิ่มเติมกับภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อยุติในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ก็อาจจะทำให้โครงการชะลอการลงทุนออกไปบ้าง

“ตอนนี้การเก็บเงินสดเป็นเรื่องสำคัญที่สุด พวก OPEX ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ ก็ไม่ใช้ ก็จะลดพวกนี้ลง การลงทุนใหม่ พวกโครงการใหม่และผลตอบแทนไม่ลงล็อก เหตุการณ์อาจเกิดสวิงกลับไปกลับมาก็ไม่ลงทุน อย่างปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในสหรัฐ ก็ให้ไปทบทวนเพราะดีมานด์เป็นอย่างไร ซัพพลายเป็นอย่างไร โลกเปลี่ยนไปเยอะล้ว ยิ่งมีประเด็น one time plastic อีก ตอนนี้ยังไม่ตัดสินใจต้องไปถาม PTTGC เราให้ปรับแผนแล้วเอาเข้าบอร์ดอีกที ส่วน MARS เลื่อนแน่…แต่การบริหารสภาพคล่องเรื่องรีไฟแนนซ์ เราไม่ต้องถึงขนาดนั้น”นายชาญศิลป์ กล่าว

นายชาญศิลป์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบความต้องการใช้น้ำมันตลาดโลกลดลง รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยานที่ลดลงไปมาก ทำให้กลุ่มปตท.ต้องกลับมาทบทวนการปรับลดกำลังการกลั่นเฉลี่ย 15-20% แล้วแต่สถานการณ์ของแต่ละโรงกลั่น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในเดือน พ.ค.นี้ รวมถึงการบริหารสต็อกน้ำมันให้มีความเหมาะสมด้วย เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของสถานการณ์ราคาน้ำมัน

โดยล่าสุด ปตท.ได้ปรับลดคาการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปีนี้เหลือราว 30-40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 55-65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากเฉลี่ยปีที่แล้วที่อยู่ระดับ 63 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ทั้งนี้ มองว่าสถานการณ์โควิด-19 น่าจะส่งผลกระทบต่อภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และคาดว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นกลับเข้ามาในไตรมาส 3 หลังบางประเทศเริ่มผ่อนปรนการล็อกดาวน์ กลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง ซึ่งก็น่าจะทำให้ทิศทางราคาน้ำมันค่อย ๆ ฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงไปมากขณะนี้ก็เริ่มเห็นผู้ผลิตจาก shale oil และ shale gas ที่มีต้นทุนการผลิตสูงก็ค่อย ๆ หายไปจากตลาด

ด้านแหล่งข่าวจากกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน เปิดเผยว่า กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันของไทยในช่วงไตรมาส 1/63 จะมีผลขาดทุนสต็อกน้ำมันในระดับหลายหมื่นล้านบาท จากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงมาอยู่ราว 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในช่วงสิ้นไตรมาส  ตามความต้องการน้ำมันลดลงมากทุกภาคส่วน  ส่วนในไตรมาส 2 คาดว่าความเสี่ยงจากการขาดทุนสต็อกน้ำมันจะลดลง เพราะการปรับลดลงของราคาน้ำมันน่าจะใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว

ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันทั่วโลกก็ลดกำลังการกลั่นลงด้วยเช่นกัน โดยโรงกลั่นในแถบเชีย ที่มีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเป็นหลัก เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ อินเดีย ได้ปรับลดกำลังการกลั่นลงราว 10-30% เช่นเดียวกับโรงกลั่นในไทย ที่ทยอยลดกำลังการกลั่นลงตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.แล้ว โดยในเดือน มี.ค.จะลดกำลังการกลั่นไม่ได้มาก เนื่องจากต้องบริหารจัดการน้ำมันดิบที่สั่งซื้อล่วงหน้าเข้ามาแล้ว ส่วนในอนาคตจะทยอยปรับลดกำลังการกลั่นอีกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้น้ำมันว่าจะกลับมาได้เร็วเพียงใด

สำหรับสถานการณ์ค่าการกลั่น มองว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก และมีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตามสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง อย่างไรก็ตามความต้องการใช้น้ำมันอาจจะยังไม่ได้กลับมาเร็วมากนัก โดยอาจต้องใช้เวลานานจนถึงสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า ที่กิจกรรมต่าง ๆ จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้

ส่วนการที่รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการจัดเก็บสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมายจาก 6% เหลือ 4% ในช่วง 1 ปีนั้น จะสามารถแบ่งเบาภาระต้นุทนให้กับโรงกลั่นน้ำมันในประเทศได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในด้านของเงินทุนหมุนเวียนและภาระดอกเบี้ย

Back to top button