ราคาไข่ร่วง ฟองละ 20 สตางค์ หลังผลผลิตสะสมเพิ่ม เกิดภาวะล้นตลาด
"สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้" เผยราคาไข่ร่วง ฟองละ 20 สตางค์ หลังสถานการณ์กักตุนไข่ไก่คลี่คลาย ผลผลิตสะสมเพิ่ม เกิดภาวะล้นตลาด
นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์ไข่ขาดแคลนในช่วงก่อนนี้จากการเร่งกักตุนของประชาชนและพ่อค้าคนกลางคลี่คลายลง ขณะที่ผู้บริโภคต่างทยอยเคลียร์สต๊อกไข่ด้วยการบริโภคในครัวเรือนให้หมดก่อน ผนวกกับกำลังซื้อที่ลดลงของประชาชน ส่งผลให้ตลาดไข่ไก่ซบเซาเป็นอย่างมาก กระทบโดยตรงกับเกษตรกรที่ต้องขายไข่ไก่ในราคาต่ำลง
โดยปัจจุบันเกษตรกรและผู้ประกอบการยังคงดำเนินการตามมาตรการของภาครัฐ ทั้งการยืดอายุการเลี้ยงแม่ไก่ไข่จากเดิม 80 สัปดาห์ออกไป และการงดส่งออกไข่ไปจนถึงวันที่ 30 เมษายนนี้ ส่งผลให้ปริมาณไข่ไก่เพิ่มมากขึ้นจนเกินความต้องการทุกวัน
สำหรับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกรปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 2.60 บาทต่อฟอง ลดลงจาก 2.80 บาทเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา เป็นผลมาจากปริมาณผลผลิตไข่ไก่ส่วนเกินสะสมมากนานกว่า 3 สัปดาห์แล้ว
“ในห่วงโซ่การผลิตไข่ไก่ นอกจากเกษตรกรในฐานะผู้ผลิตแล้ว ยังมีพ่อค้าคนกลางเป็นตัวแปรสำคัญในการปล่อยไข่ไก่ออกสู่ตลาด หรือเก็บกักไข่ในห้องเย็นเพื่อเก็งกำไร หรือเทขายหากคาดการณ์ว่าราคาไข่จะตกลง จึงอยากขอให้กรมการค้าภายในตรวจสอบกลุ่มพ่อค้าคนกลางหรือล้งไข่อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนช่วงก่อนหน้านี้ นอกจากนี้เกษตรกรภาคใต้ยังกังวลกับปัญหาการส่งไข่ไก่มาดั๊มพ์ตลาดของพ่อค้าอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ที่เมื่อไข่ราคาถูกก็จะขนไข่ลงใต้จำนวนมากเกินความต้องการในพื้นที่ กระทบเกษตรกรใต้อย่างรุนแรง” นายสุเทพ กล่าว
นอกจากนี้ นายสุเทพ ยังกล่าวอีกว่า ไข่ไก่เป็นสินค้าอ่อนไหว เมื่อมีอะไรมากระทบมักเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยิ่งถ้าปัจจัยที่กระทบนั้นไม่ใช่วิถีปกติตามธรรมชาติ เช่นเกิดความตระหนกของประชาชน หรือการกักเก็บเพื่อทำกำไรของพ่อค้าคนกลาง หรือการแทรกแซงกลไกตลาดไข่ไก่ ล้วนก่อให้เกิดผลเสียต่อเกษตรกรผู้ผลิตไข่ไก่มากขึ้น
ดังเช่นการห้ามระบายผลผลิตส่วนเกินออกนอกประเทศ ซึ่งทำให้เกิดภาวะไข่ล้นตลาดดังเช่นปัจจุบัน ทั้งๆที่การระบายไข่ไก่ไปขายต่างประเทศต้องขายในราคาขาดทุน เช่นในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ ปีนี้ ไทยส่งออกไข่ลดลงไปกว่าครึ่งจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยราคาส่งออกเฉลี่ยฟองละ 2 บาท ยังไม่รวมต้นทุนค่าจัดการต่างๆ ถือเป็นการขายขาดทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศ ไม่ให้ตกต่ำจนเกษตรกรต้องเดือดร้อน