พาราสาวะถี
ความยิ่งใหญ่ของคนไม่ได้วัดกันที่การมีอำนาจบาตรใหญ่ สั่งให้ใครซ้ายหันขวาหันก็ได้ หากแต่อยู่ที่ใจว่ายิ่งใหญ่เพียงใดหรือไม่ต่างหาก ฟัง สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ แม่ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับจดหมายถึงเจ้าสัวของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เจ้าตัวบอกว่าไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว ก่อนที่จะบอกต่อ มีความยินดีอยู่แล้วหากรัฐบาลต้องการคำแนะนำ ไม่ได้ห้ามไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนไหนก็แล้วแต่ เพราะนี่เป็นเรื่องของบ้านเมืองที่ขณะนี้ทุกคนทุกฝ่ายต้องช่วยกัน
อรชุน
ความยิ่งใหญ่ของคนไม่ได้วัดกันที่การมีอำนาจบาตรใหญ่ สั่งให้ใครซ้ายหันขวาหันก็ได้ หากแต่อยู่ที่ใจว่ายิ่งใหญ่เพียงใดหรือไม่ต่างหาก ฟัง สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ แม่ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับจดหมายถึงเจ้าสัวของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เจ้าตัวบอกว่าไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว ก่อนที่จะบอกต่อ มีความยินดีอยู่แล้วหากรัฐบาลต้องการคำแนะนำ ไม่ได้ห้ามไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนไหนก็แล้วแต่ เพราะนี่เป็นเรื่องของบ้านเมืองที่ขณะนี้ทุกคนทุกฝ่ายต้องช่วยกัน
คำถามที่ผุดขึ้นกันมาก่อนหน้าหลังฟังแถลงการณ์ของท่านผู้นำเรื่องจดหมายเปิดผนึกถึง 20 เจ้าสัว จนเกิดแฮชแท็ก “รัฐบาลขอทาน” กระทั่งได้เห็นเนื้อหาในจดหมายดังกล่าว ทำไมจึงจำกัดวงอยู่แค่ความเห็นของเจ้าสัวแค่ 20 ราย และที่บอกว่าขอความร่วมมือแล้วทำไมต้องเร่งทวงยิก ๆ จาก คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ให้รีบส่งข้อเสนอการปรับปรุงพัฒนาเศรษฐกิจมายังรัฐบาล
ทำตัวเสมือนผู้มีพระคุณเมื่อฉันต้องการความช่วยเหลือต้องรีบตอบสนอง แม้จะไม่ใช่เรื่องของตัวเงินหรือสิ่งของใด ๆ แต่ท่าทีที่แสดงออกมันหมายถึงการวางตัวเป็นเจ้าขุนมูลนาย จดหมายที่ส่งไปไม่ใช่แค่ให้ไปอ่าน แล้วจะตอบรับกลับมาเมื่อไหร่ก็ได้ ทั้งที่ความจริงแล้ว การขอความร่วมมือมันอยู่ที่ความสมัครใจของผู้ถูกร้องขอว่าจะร่วมมือหรือไม่ และไม่จำเป็นว่าจะต้องเร็วหรือช้า ยิ่งเป็นเรื่องของความเห็น ข้อเสนอแนะที่ดี ยิ่งช้ายิ่งน่าจะมีประโยชน์มหาศาล เพราะผู้เสนอได้ใช้เวลาในการคิดให้ตกผลึก รอบคอบ
ในยามบ้านเมืองเช่นนี้ คงไม่ดีแน่ที่จะมานั่งจับผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ เพียงแค่อยากจะสะกิดเตือนท่านผู้นำเท่านั้นว่า อย่าได้แสดงความมีอำนาจบาตรใหญ่ในเรื่องที่ไม่ควรจะเป็นเรื่อง และยิ่งประเด็นอันเกี่ยวพันกับการขอความเห็นของ 20 เจ้าสัวด้วยแล้ว คนยิ่งจะหมั่นไส้และไม่เข้าใจแนวคิดของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะ ความเห็นดังกล่าวนั้นมันมีค่ามหาศาล แตกต่างจากข้อเสนอของภาคประชาชน คนที่เดือดร้อนอย่างไร
ชุดข้อมูลล่าสุดจากคณะนักวิจัยโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมหรือสกสว. เรื่องการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตและคนที่ “ฆ่าตัวตาย” จากไวรัสโควิด-19 และข้อเสนอแนะ ไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะเงี่ยหูฟังหรือมีคำตอบต่อสิ่งที่บรรดานักวิชาการทั้ง 7 คนได้รวบรวมและมีข้อเสนอไว้หรือไม่ เพราะนี่น่าจะเป็นความเห็นที่เป็นทางการไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม ซีกรัฐบาลที่อ้างว่าไม่เลือกข้างแต่แบ่งพวกคงจะหาเหตุมาพูดถึงคณะนักวิจัยชุดนี้อยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อไปดูแต่ละรายชื่อแล้ว บางรายก็เป็นบุคคลที่วิจารณ์รัฐบาลตั้งแต่ยุคเผด็จการจนถึงปัจจุบันอย่างถึงพริกถึงขิงเหมือนกัน อันประกอบไปด้วย อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล ประภาส ปิ่นตบแต่ง บุญเลิศ วิเศษปรีชา ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ธนิต โตอดิเทพย์ และ ธนพฤกษ์ ชามะรัตน์ โดยสิ่งที่นักวิชาการคณะนี้โฟกัสคือมาตรการของรัฐในการรับมือกับโควิด-19 กับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนจนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย
แน่นอนว่า มาตรการของภาครัฐที่ออกมานั้น ทำให้เห็นราวกับว่าสังคมไทยจะสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุของไวรัสดังกล่าวมีจำนวนที่น้อยลงเป็นอย่างมากในช่วงเดือนเมษายน เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่ายินดีสำหรับคนไทยทุกคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมแห่งนี้ แต่ก็ปรากฏข่าวการฆ่าตัวตายของประชาชนเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายด้วยเช่นกัน
มีข้อมูลที่แสดงอย่างชัดเจนว่าเป็นผลกระทบสืบเนื่องมาจากมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ ที่ได้ประกาศบังคับใช้ตั้งแต่ 22 มีนาคมเป็นต้นมา เนื่องจากมาตรการของรัฐมุ่งเน้นการจัดการด้านสาธารณสุข แต่ละเลยการจัดเตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที โครงการวิจัยฯ มีสมมติฐานว่าผลกระทบต่อประชาชนจะเกิดติดตามมาอย่างชัดเจนและรุนแรงขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ จึงได้ทำการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 จนถึงวันที่ 21 เมษายน
เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากมาตรการของรัฐในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 ด้วยการรวบรวมข้อมูลของสื่อมวลชนที่มีการรายงานข่าวการฆ่าตัวตายและมีข้อมูลรายละเอียดที่ยืนยันหรือแสดงให้เห็นว่าการฆ่าตัวตายนั้นมีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับนโยบายหรือมาตรการของรัฐ ช่วงเวลาดังกล่าวมีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 38 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 28 คน อีก 10 คน ยังไม่เสียชีวิต โดยในห้วงเวลาดังกล่าวจำนวนของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 และผู้ที่ฆ่าตัวตายอยู่ในจำนวนที่เท่ากันคือ 38 ราย
แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้ที่ฆ่าตัวตายมีจำนวนไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลับให้ความสำคัญเฉพาะการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 โดยตรง ดังที่มีการแถลงข่าวรายวัน การประกาศใช้มาตรการอย่างเข้มงวด การทุ่มเททรัพยากรอย่างมหาศาล แต่แทบไม่ให้ความสำคัญต่อผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากนโยบายหรือมาตรการของรัฐ การฆ่าตัวตายเป็นโศกนาฏกรรมที่สามารถป้องกันได้หากรัฐบาลมีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ
ที่เกิดขึ้นจึงเป็นข้อบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของการจัดการของรัฐอย่างรุนแรง กระนั้นก็ตาม แม้บทสรุปของคณะนักวิจัยดูเหมือนจะสร้างความไม่พอใจต่อฝ่ายกุมอำนาจ แต่ข้อเสนอที่แนะนำมานั้นเป็นเรื่องที่น่าคิดเป็นอย่างยิ่ง โดยขอรัฐบาลมีมโนธรรมสำนึกและพยายามป้องกันไม่ให้เกิดเหตุฆ่าตัวตายขึ้นอีก รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนการให้เงินเยียวยาในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ให้กว้างขวางและรวดเร็ว บนฐานคิดช่วยเหลือให้ถ้วนหน้าไม่ใช่สงเคราะห์เพียงบางคน
ในพื้นที่ที่ไม่ได้มีความเสี่ยงในระดับสูง จำเป็นต้องมีการเปิดพื้นที่แบบมีการจัดการ สุดท้ายคือรัฐบาลต้องยกเลิกการใช้กฎหมายและมาตรการต่าง ๆ ที่สร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น ดังนั้น จึงคาดหวังกันว่า การประชุมศบค.ของท่านผู้นำในวันนี้ (27 เม.ย.) เพื่อนำบทสรุปไปเคาะในที่ประชุมครม.วันรุ่งขึ้น จะหาหนทางลดความเดือดร้อนของประชาชนได้ ไม่ใช่ท่องแต่วลีสุขภาพมาก่อนเสรีภาพตลอดเวลา