บทบาท CFO ท่ามกลางวิกฤติ
มาตรการผ่อนปรนแนวปฏิบัติทางการบัญชี เป็นการชั่วคราว 2 ฉบับ ว่าด้วยเรื่องสถาบันการที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระ ทบจากโคโรนา 2019 ด้วยการผ่อนปรนบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ 6 ฉบับออกไป 2 ปี
พลวัตปี 2020 : สุภชัย ปกป้อง
มาตรการผ่อนปรนแนวปฏิบัติทางการบัญชี เป็นการชั่วคราว 2 ฉบับ ว่าด้วยเรื่องสถาบันการที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระ ทบจากโคโรนา 2019 ด้วยการผ่อนปรนบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ 6 ฉบับออกไป 2 ปี
ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องเตรียมการรับมือกับ “สุขภาพทางการเงิน” ที่ต้องเผชิญความยากลำบาก ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกถดถอยร้ายแรงอีกครั้งหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์โลก
แน่นอนว่าตำแหน่ง CFO (Chief Financial Officer) หรือผู้บริหารสูงสุดด้านการบัญชีและการเงิน ในฐานะผู้ดูแล รับผิดชอบและตัดสินใจสูงสุด เรื่องบัญชีและการเงิน ตั้งแต่ดูแลงบการลงทุน การใช้จ่าย การจัดหาแหล่งเงินทุนและระบบบัญชี
การสำรวจ COVID-19 CFO Pulse Survey ของ PWC บริษัทให้บริการด้านวิชาชีพบัญชีที่ใหญ่สุด 1 ใน 4 แห่งของโลก ที่สำรวจความคิดเห็น CFO และผู้บริหารฝ่ายการเงินสหรัฐฯ และเม็กซิโก พบว่า CFO กว่า 87% มีความกังวลว่าไวรัสโควิด-19 กระทบการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ ทำรายได้และกำไรปีนี้หดตัว โดยบ่งชี้องค์กรต่าง ๆ เร่งงัดมาตรการทางการเงินออกมาใช้ ทั้งบริหารต้นทุน ชะลอแผนการลงทุนและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป
โดย PWC ระบุว่า ธุรกิจไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ไม่แตกต่างจากธุรกิจทั่วโลก สิ่งแรกที่ต้องทำคือ จัดทำแผนบริหารความเสี่ยงในภาวะวิกฤติ สำรวจและประเมินสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและวางแผนบริหารจัดการต้นทุนทั้งระยะสั้นถึงระยะกลาง ที่สำคัญคือการดูแลพนักงานตัวเอง เพื่อให้มั่นใจว่าได้รับการปกป้องและจะผ่านพ้นภาวะวิกฤติพร้อม ๆ กับองค์กรด้วย
ขณะที่ KPMG อีกบริษัทให้บริการด้านวิชาชีพบัญชีที่ใหญ่สุด 1 ใน 4 แห่งของโลก ประเมินว่า จากสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ดังกล่าว CFO จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยรับมือและนำพาบริษัทให้พ้นจุดวิกฤติ สิ่งสำคัญอย่างมาก นั่นคือการบริหารเงินสดที่ CFO ต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ และจัดตั้ง Cash Steering Committee ประกอบด้วย Senior Management กลุ่มต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารเงินสด รวมทั้งประมาณการความเพียงพอของเงินสดในอนาคต พร้อมเสนอ 4 แนวทาง การบริหารจัดการเงินสด
–Customer : ต้องพูดคุยกับลูกค้า เพื่อรับทราบผลกระทบและสถานะการเงินลูกค้า เพื่อหาวิธีการช่วยเหลือ เช่นการให้ส่วนลดกับลูกค้า ทำให้ได้เงินสดเร็วขึ้นหรือวิธีการอื่น ๆ ที่จะทำให้ทั้งลูกค้าและบริษัทเดินหน้าต่อไปได้
-Supplier : ต้องประเมินสถานการณ์ Supplier หากยังดีอยู่จะได้เจรจาขอยืดเวลาการจ่ายเงินให้นานขึ้น
-Inventory : พยายามใช้สินค้าในคลังให้หมดก่อน เพื่อลดปริมาณการสั่งเพิ่ม พร้อมวิเคราะห์ว่าสินค้าตัวไหนที่ทำกำไรและสินค้าไหนที่ขาดทุนหรือขายยาก เพื่อทำการหยุดผลิตชั่วคราว
-Expense Review : ประเมินว่า ค่าใช้จ่ายหรือโครงการลงทุนส่วนไหนที่ไม่สำคัญและสามารถชะลอไปก่อน การลดต้นทุนผันแปรและต้นทุนคงที่ให้ต่ำลง
สิ่งสำคัญกับการทำ Stress Test หรือการจำลอง Scenario แต่ละแบบ เพื่อประเมินผลกระทบกับเงินสดบริษัทตาม3 สมมติฐาน ทั้งกรณีปกติ (Base Case) –กรณีดีสุด (Best Case) –กรณีเลวร้ายสุด (Worst Case) จากเหตุการณ์วิกฤติโควิด-19 ดังกล่าว โดยให้ความสำคัญว่าหากเหตุการณ์วิกฤตินี้เกิดกรณีเลวร้ายสุด ส่งผลกระทบยืดเยื้อเป็นเวลานานเงินสดบริษัทจะลดลงเท่าไหร่ เพื่อเตรียมตัวรับมือสถานการณ์วิกฤติที่จะเกิดขึ้น
นี่ถือเป็นความท้าทายบทบาท CFO ที่สำคัญอย่างยิ่งกับการรับมือสถานการณ์ เพื่อประคองและรักษาความสมดุล “สุขภาพการเงิน” ช่วงวิกฤติครั้งใหญ่นี้..!!!