เหยื่อยามตลาดขาลง
การล่มสลายของบริษัทค้าน้ำมันรายใหญ่สุดของสิงคโปร์ และกำลังจะตามมาด้วยการทยอยปิดกิจการของบริษัทขุดเจาะเชลล์ออยล์ในสหรัฐฯ สะท้อนข้อเท็จจริงของสถานการณ์น้ำมันขาลงได้ชัดเจนว่าอย่างไรเสียต้องมีเหยื่อของสถานการณ์เกิดขึ้น
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
การล่มสลายของบริษัทค้าน้ำมันรายใหญ่สุดของสิงคโปร์ และกำลังจะตามมาด้วยการทยอยปิดกิจการของบริษัทขุดเจาะเชลล์ออยล์ในสหรัฐฯ สะท้อนข้อเท็จจริงของสถานการณ์น้ำมันขาลงได้ชัดเจนว่าอย่างไรเสียต้องมีเหยื่อของสถานการณ์เกิดขึ้น
ในยามตลาดขาลง ราคาอยู่ในสภาพวิกฤต ดังนั้นจึงเป็นไปตามสูตรการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ของ โยเซฟ ชุมปีเตอร์ ที่ระบุว่า วิกฤตของทุนนิยม บ่งชี้ว่าใครสมควรอยู่รอด ใครไม่สมควรอยู่รอด
การล่มสลายของฮิน เหลียง แห่งสิงคโปร์ ที่พนักงานหรือผู้บริหารไปพลาดในการเก็งกำไรราคาน้ำมันผิดพลาด สูญเสียเงินสดและเงินกู้ไปหมดสิ้นหลายแสนล้านเหรียญ จนถูกเจ้าหนี้ทวงเงินกู้คืน (เงินกู้ระยะสั้น เงินค้ำประกันตั๋ว เงินเทรดน้ำมัน ซึ่ง ซิงหลงใช้เงินกู้จากแบงก์ใหญ่ ๆ ของสิงคโปร์ และ แบงก์ทั่วโลก ไปเล่นในสงครามราคาน้ำมัน ไม่ต่างอะไรกับกรณีเทรดเดอร์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินในสิงคโปร์เล่นตลาดพลาดจนทำให้กลุ่มทุนการเงินที่เคยเป็นเสาหลักของจักรวรรดิอังกฤษในอดีต แบริ่ง ที่มีอายุเกือบ 200 ปีต้องหายวับก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งจะเกิดมาแล้ว
สิ่งที่พอหลงเหลือสำหรับธุรกิจที่ล่มสลาย (นอกเหนือจากการต่อสู้เพื่อ “ทึ้งซากแพะ” ตามปกติธรรมดา) คือตำนานเบื้องหลังการล่มสลาย พร้อมกับ 3 คำถามที่ท้าทายอนาคตนั้นคือ
ก) ธุรกิจธนาคารและการลงทุนจะซึมซับและเรียนรู้ความผิดพลาดอย่างไร
ข) ระบบตลาดค้าน้ำมันโดยรวมจะกระทบมากน้อยเพียงใด
ค) ใครจะผงาดเข้ามาครองอำนาจเหนือตลาดน้ำมันสิงคโปร์และอาเซียนแทนที่ฮินเหลียง
คำถามแรก น่าจะหาคำตอบชัดเจนยากพอสมควร เพราะบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายที่ยังคงต้องเอาตีนก่ายหน้าผากกันทั้งโลกกับหนี้สินที่บริษัทยอมรับว่าอำพรางความเสียหายเอาไว้ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ซึ่งตำรวจสิงคโปร์กำลังต้องหาทางไล่ล่ากัน) กับภาระหนี้สินของฮินเหลียงกับเจ้าหนี้ที่มียอดรวมล่าสุด 3.85 พันล้านดอลลาร์ (โดยมียอดมากสุดใน 20 เจ้าหนี้หลักคือ HSBC ของอังกฤษที่มากถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ประเด็นที่ท้าทายยามนี้คือ 3 ธนาคารยักษ์ใหญ่ของสิงคโปร์ ได้แก่ DBS, UOB และOCBC ปล่อยเงินกู้จมไปกับบริษัทนี้รายเดียวมากกว่า 5%ของยอดสินเชื่อที่ปล่อยให้กลุ่มพลังงาน น่าจะเจ็บหนักพอสมควรเพราะความไว้วางใจที่ธนาคารมีให้กับบุคคลที่ก่อตั้งแล้วยังมีอำนาจสูงสุดในกิจการคือ ลิ้ม อุน กวิ่น มหาเศรษฐีอันดับหัวแถว 20 รายแรกของสิงคโปร์ ถูกตีศอกกลับจังเบ้อเริ่ม
ล่าสุด บริษัทได้ขายน้ำมันที่กลั่นแล้วไปหลายล้านบาร์เรล เพื่อนำเงินมาค้ำประกันเงินกู้จากธนาคารที่ปัจจุบันเป็นหนี้อยู่ และคาดว่าหนี้ค้างชำระถึง 4.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังไม่พอชำระเพราะล่าสุด บันทึกงบการเงินที่ตรวจสอบโดย PWC ระบุเมื่อต้นเดือนเมษายนนี้เองว่า บริษัทมีทรัพย์สินสุทธิเพียง 714 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งหมายความว่า ยังมีช่องว่างระหว่างหนี้เดิมกับทรัพย์สินอยู่ถึง 3.34 พันล้านดอลลาร์ แสดงให้เห็นว่า บริษัท Hin Leong กำลังขาดสภาพคล่องอย่างหนักและกำลังจะกลายเป็นผลกระทบที่รุนแรง
การที่บริษัทในเครือข่ายฮินเหลียง ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายเพื่อขอป้องกันทรัพย์สินจากเจ้าหนี้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นแค่กระบวนการให้ธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ของกลุ่มที่มีมากกว่า 20 แห่งเข้ามาสำรวจทรัพย์สินตามปกติ ก่อนที่จะเหลือแค่ตำนานให้ลืมเมื่อสถานการณ์กลับคืนสู่ปกติ
เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินคงต้องยอมรับแผนการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลบบาดแผลใหญ่นี้โดยเร็ว แม้จะไม่ง่ายนัก
บาดแผลใหญ่นี้จะทำให้เกิดความหวาดผวาในการปล่อยสินเชื่อเพื่อการเก็งกำไรและค้าน้ำมันมากน้อยแค่ไหน คำตอบทางนิตินัยคือต้องกระทำ แต่โดยพฤตินัยแล้ว การละทิ้งธุรกิจค้าน้ำมันซึ่งแต่ละวันมีขนาดของมูลค่าซื้อขายเกิน 1ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการสูญเสียโอกาสที่บรรดานายธนาคารที่อาจจะเจ็บตัวจากกรณีนี้ ไม่น่าปล่อยวางเฉย
คำถามที่สอง มีคนมองโลกเชิงลบว่าความเสียหายของกรณีฮินเหลียง จะทำให้ราคาน้ำมันร่วงต่อไปอีกลึกกว่าเดิมเพราะตลาดจะพัง จริงหรือไม่
คำตอบคือเสียงหัวเราะ เพราะการซวนเซในกิจการเก็งกำไรของผู้เล่นรายหนึ่ง (แม้จะเป็นรายใหญ่มากคงจะก่อผลสะเทือนเชิงลบในระยะสั้นและไม่ทำให้ระบบตลาดค้าน้ำมันของโลกหรือภูมิภาคโดยรวมเสียหาย
อย่างน้อยที่สุด การขาดหายไปของฮินเหลียงและเครือ จะไม่ทำให้ตลาดน้ำมันสิงคโปร์ซึ่งเป็นตลาดอ้างอิงของอาเซียนสะเทือน ราคาน้ำมัน “สิงคโปร์” น่าจะยังมีความหมายไม่เปลี่ยนแปลงต่อไป เพราะท้ายสุด แม้จะไม่มีชื่อฮินเหลียงอีกต่อไป แต่คนที่จะมาแทนที่ฮินเหลียงก็น่าจะมีพฤตกรรมเดิม
ดังเช่นเดียวกับการล่มสลายของแบริ่งในอดีตเมื่อ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
คำถามสุดท้ายนี้น่าสนใจอย่างมากเพราะว่าท้ายที่สุดทรัพย์สินบางส่วนของฮินเหลียงเช่นเรือขนส่งคลังสินค้า หรือรายชื่อลูกค้า และหรือกิจการค้าน้ำมันน่าจะถูกตัดแบ่งออกขายเพื่อเปลี่ยนมือเจ้าของใหม่ซึ่งไม่น่าจะจำกัดเฉพาะบริษัทสิงคโปร์เท่านั้น
โอกาสเช่นนี้ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แล้วเราอาจจะได้เห็นปรากฏการณ์การเข้ารับช่วงกิจการค้าน้ำมันภูมิภาคของยักษ์น้ำมันระดับโลก หรือคนที่อยากจะเป็นยักษ์น้ำมันระดับภูมิภาค
ถามว่ากรณีที่เปิดกว้างเช่นนี้ อาจจะมีเซอร์ไพรส์ได้หรือไม่
คำตอบคือเป็นไปได้ และเป็นไปไม่ได้ พอ ๆ กัน
หากลองจินตนาการดู หากให้ ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อกิจการของการบินไทย กับการเข้าซื้อกิจการฮินเหลียงบางส่วน หรือทั้งหมด อย่างไหนน่าสนใจ และ “มีสาระ” มากกว่ากัน
คำตอบตอนนี้ อาจจะยังไม่มี แต่ใช่ว่าจะไม่มีความเป็นไปได้
ลองจินตนาการเล่น ๆ ดูนะครับ