พิษ “โควิด” ฉุด “ดัชนีเชื่อมั่นค้าปลีก” ไตรมาสแรก หดเหลือ 47.2 เสียหายกว่า 3-4 แสนลบ.

พิษ "โควิด-19" ฉุด "ดัชนีเชื่อมั่นค้าปลีก" ไตรมาสแรก ปี 63 หดเหลือ 47.2 ต่ำกว่าระดับปกครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี มูลค่าความเสียหายกว่า 3-4 แสนลบ.


นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Modern Trade (Modern Trade Sentiment Index : MTSI) ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ซึ่งเป็นการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการในธุรกิจ Modern Trade จำนวน 105 ตัวอย่าง ทั้งร้านสะดวกซื้อ, ห้างสรรพสินค้า, ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และไฮเปอร์มาร์ท ในช่วงวันที่ 23 มี.ค.-17 เม.ย.63

โดยพบว่า ดัชนี MTSI ในไตรมาส 1/63 อยู่ที่ระดับ 47.2 ลดลงจากไตรมาส 4/62 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.1 โดยดัชนีปรับตัวลดลงต่ำกว่า 50 (ซึ่งถือว่าเป็นระดับปกติ) เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส หรือเกือบ 2 ปี นับตั้งแต่ที่เริ่มทำการสำรวจเมื่อไตรมาส 3/61 โดยดัชนี MTSI ปรับตัวลดลงในทุกภาคจากไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ Modern Trade ส่วนใหญ่ระบุว่า สถานการณ์ของธุรกิจในช่วงไตรมาส 1/63 ในแง่ของการจ้างงาน, รายรับจากการขาย/บริการ, กำไรจากการขาย/บริการ และจำนวนลูกค้า ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากไตรมาส 4/62 เท่าใดนัก เนื่องจากเพิ่งเริ่มบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงทำให้ห้างร้านดังกล่าวยังได้รับผลกระทบไม่มาก

แต่หากให้ประเมินสถานการณ์ในไตรมาส 2/63 จะพบว่าธุรกิจมีต้นทุนในการดำเนินการที่ลดลง จากการเริ่มปิดห้างร้านบางประเภท

อย่างไรก็ดี กลับพบว่าการค้าในรูปแบบออนไลน์ เพิ่มขึ้นถึง 89% ซึ่งทำให้เห็นว่าธุรกิจ Modern Trade สามารถปรับตัวเข้าสู่การขายสินค้าแบบออนไลน์ และบริการจัดส่งสินค้าถึงมือลูกค้า (delivery) มากขึ้น

“ในไตรมาสแรก ยังไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่งเริ่มบังคับใช้เมื่อปลายมี.ค. (26 มี.ค.) แต่พบว่าธุรกิจขายสินค้าแบบออนไลน์ และบริการจัดส่ง delivery กลับขยายตัวสูงถึง 73% ในไตรมาส 1 และแนวโน้มจะขยายตัวได้ 89% ในไตรมาส 2” นายธนวรรธน์ ระบุ

สำหรับปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ Modern Trade ในช่วงไตรมาส 1/63 นี้มีหลายปัจจัย ประกอบด้วย

1.การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

2.การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (26 มี.ค.-30 เม.ย.63) และการสั่งปิดกิจการบางประเภทชั่วคราว

3.มาตรการยกเลิกวีซ่า 18 ประเทศ ฟรีวีซ่า 3 ประเทศ

4.การประกาศยกเลิกเที่ยวบินชั่วคราวของสายการบินไทย

5.สถานการณ์ภัยแล้งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

6.ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในภาคเหนือ ตลอดจนกรุงเทพฯ และปริมณฑล

7.การส่งออกมีสัญญาณหดตัว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เป็นต้น

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.75%, รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อช่วยเหลือประชาชน และผู้ประกอบการ, พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เป็นต้น

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เมื่อสำรวจความเห็นว่าธุรกิจ Modern Trade ประสบปัญหาด้านใดในปัจจุบัน สามารถสรุปได้ใน 4 ประเด็นหลัก คือ

1.ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลมีคำสั่งปิดห้างสรรพสินค้า และธุรกิจบางประเภท และให้ประชาชนอยู่ในบ้าน หลีกเลี่ยงการเดินทาง และการอยู่ที่สถานที่ที่มีคนรวมตัวกันมาก

2.การบริหารจัดการธุรกิจมีข้อจำกัด เนื่องจากการสั่งปิดกิจการกระทันหัน ส่งผลต่อแนวทางการจัดการเกี่ยวกับพนักงาน และสภาพคล่องทางการเงิน

3.ผู้ค้าออนไลน์เถื่อน มีการจำหน่ายสินค้าตัดราคา หรือลักลอบจำหน่ายสินค้าหนีภาษี

4.กำลังซื้อของลูกค้าหดตัว จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจ Modern Trade ได้มีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลเพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหา ดังนี้

1.มาตรการเร่งด่วน คือ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการฟื้นเศรษฐกิจหลังจากนั้น ทั้งระยะสั้น-ระยะยาว

2.มาตรการเยียวยาระยะสั้น-ระยะยาวผู้ประกอบการ ด้านวงเงินสนับสนุนหรือมาตรการทางภาษี

3.มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเร่งด่วนต่อเนื่อง 1-3 เดือน

4.เร่งแก้ไขปัญหาการว่างงาน ปัญหารายได้ที่ลดลงของประชากรและเอกชนที่เป็นกลุ่มหลักของประเทศ

5.การจ้างแรงงานต่างด้าว

6.เร่งมาตรการผ่อนคลายการเปิดกิจการ เพื่อบรรเทาผลกระทบ

และ 7.มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระดับมหภาคให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

นายธนวรรธน์ ประเมินว่า มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจที่ต้องปิดกิจการชั่วคราวในช่วงไตรมาส 1/63 อยู่ที่ราว 3-4 แสนล้านบาท แต่หากประเมินจากต้นปีจนถึงสิ้นเดือนเม.ย. คาดว่าจะอยู่ที่ราว 1 ล้านล้านบาท

พร้อมมองว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในครั้งนี้ไม่เหมือนกับที่ผ่านมาที่รัฐบาลเคยใช้ เนื่องจากครั้งนี้เป็นการใช้เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ไม่ได้ใช้ในสถานการณ์การเมือง ซึ่งการบังค้บใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี โดยจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงจาก 3 หลักต่อวัน มาเหลือเพียง 1 หลัก

“การขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไป 1 เดือน และมีการใช้มาตรการเคอร์ฟิว เป็นสิ่งที่อยู่ในกรอบโครงสร้างเศรษฐกิจที่ประชาชนปรับตัว และระมัดระวังการเดินทาง ซึ่งทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่สูง และยังไม่กระทบต่อความเชื่อมั่น ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อลดน้อยลงจนเหลือ 0 ในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวของไทย จะเป็นภาพลักษณ์ในเชิงบวกต่อสถานการณ์โควิดของไทย” นายธนวรรธน์ กล่าว

ด้านนายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกันของสมาชิกหอการค้าไทย กลุ่มธุรกิจค้าปลีก มองว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รูปแบบการซื้อสินค้าของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ ขณะที่ธุรกิจด้านการขนส่ง ทั้งบริการดิลิเวอร์รี่ และโลจิสติกส์ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ได้เสนอให้รัฐบาลพิจารณาผ่อนคลายมาตรการการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยอนุญาตให้เปิดร้านค้าหรือธุรกิจที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันของประชาชนก่อน เช่น ร้านอาหาร, เสื้อผ้า, เครื่องใช้ไฟฟ้า, วัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการพร้อมจะยอมรับข้อปฏิบัติ และแนวทางของภาครัฐหากได้รับการผ่อนคลายมาตรการ

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองได้มีมาตรการในการดูแลและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการสถานที่, การจำกัดจำนวนลูกค้า, ความปลอดภัยในการจัดส่งสินค้า โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร ซึ่งในกลุ่ม Modern Trade เตรียมพร้อมรองรับกับ New Normal ที่จะเกิดขึ้น

“ธุรกิจค้าปลีกพร้อมปฏิบัติตามกฎระเบียบของรัฐบาลหากมีการผ่อนคลายมาตรการ และเปิดให้บริการโดยมีการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ…วันนี้ มาตรการในการควบคุมมีแนวโน้มที่ดี การยกเลิกเคอร์ฟิวน่าจะมีส่วนสำคัญด้านจิตวิทยา แต่ทางด้านธุรกิจการค้าปลีกเรามีความพร้อมอยู่แล้ว เราไม่มีผลกระทบในเชิงโครงสร้าง และไม่มีการปลดพนักงาน เราสามารถเปิดธุรกิจได้ทันที เพียงแต่เราจะมีมาตรการควบคุม ซึ่งเราเตรียมไว้แล้ว และเชื่อว่าจะสามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้” นายสุรงค์ กล่าว

Back to top button