“ฟิทช์” คงเรตติ้ง THRE ที่ A- แนวโน้มมีเสถียรภาพ มองธุรกิจประกันภัยแกร่ง
“ฟิทช์” คงอันดับ THRE ที่ A- แนวโน้มมีเสถียรภาพ มองธุรกิจประกันภัยแกร่ง
บริษัท ฟิทช์เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล (Insurer Financial Strength Rating: IFS Rating) ของ บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE ที่ ‘A-‘ หรืออยู่ในระดับ “แข็งแกร่ง” แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
การประกาศอันดับเครดิตดังกล่าวพิจารณาจากการประเมินผลกระทบของการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสที่อาจมีผลต่อระบบเศรษฐกิจภายใต้สมมติฐานที่ระบุไว้ในส่วนท้าย ซึ่งฟิทช์ใช้สมมติฐานดังกล่าวในการประเมินตัวเลขทางการเงินเพื่อเทียบเคียงกับหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์และปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต (rating sensitivities) ที่ได้ระบุไว้ในการประกาศอันดับเครดิตของ THRE ในครั้งก่อน
โดยการประกาศคงอันดับเครดิตของ THRE สะท้อนถึงโครงสร้างธุรกิจประกันภัยของบริษัทที่ยังแข็งแรง (Favorable Business Profile) เมื่อเทียบกับบริษัทประกันวินาศภัยอื่นภายในประเทศ ระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และระดับความเสี่ยงทางด้านการลงทุนและสภาพคล่องที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยรองรับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของผลประกอบการของบริษัทที่อาจได้รับผลกระทบจากผลการดำเนินงานของธุรกิจรับประกันภัยในอดีตที่ยังขาดทุน
ทั้งนี้ฟิทช์มีความเห็นว่าระดับของเงินกองทุนของ THRE ที่แข็งแรงนั้นเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัท โดยการที่ส่วนทุนของบริษัท (equity) อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับหนี้สินประกันภัยนั้นเป็นปัจจัยที่ช่วยเกื้อหนุนความแข็งแรงของเงินกองทุนและจะช่วยรองรับค่าสินไหมทดแทนจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโคโรน่าไวรัส รวมถึงผลขาดทุนของเงินลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความผันผวนของตลาดการเงินตามสมมติฐานของฟิทช์
โดยฟิทช์คาดว่าระดับเงินกองทุนของบริษัทจะยังคงสอดคล้องกับอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทในปัจจุบัน โดยระดับของเงินกองทุนของบริษัทเมื่อประเมินจากแบบจำลอง Prism Factor-Based Capital Model (Prism FBM) จะอยู่ในระดับ “แข็งแกร่งมาก” (‘Very Strong’) โดยเป็นการพิจารณารวมถึงผลกระทบจากโคโรน่าไวรัสตามสมมติฐานของฟิทช์ ซึ่งระดับของเงินกองทุนดังกล่าวยังคงอยู่สูงกว่าระดับเงินกองทุนที่ระบุไว้ในปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตในอนาคต ทั้งนี้ระดับของเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามระดับความเสี่ยง (Risk-based capital ratio) ของบริษัทน่าจะยังคงสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 140% อยู่มาก
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทเมื่อพิจารณาตามสมมติฐานข้างท้ายอาจปรับตัวแย่ลงกว่าระดับที่กำหนดไว้ตามปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตในอนาคต โดยอัตราส่วนรวมค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเฉลี่ย 3 ปี (combined ratio) อาจเพิ่มขึ้นเป็น 109% ในกรณีฐาน (Rating Case) ในขณะที่อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (return on equity) ปรับลดเป็นประมาณ 2% ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสที่ค่าสินไหมทดแทนที่เกี่ยวข้องกับโคโรน่าไวรัสที่สูงขึ้น ในขณะที่ผลกระทบดังกล่าวจะถูกลดทอนลงบางส่วนจากค่าสินไหมทดแทนของผลิตภัณฑ์ประกันภัยทางรถยนต์ที่ลดลง
นอกจากนี้ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนรวมค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจะลดลงจากการที่ธุรกิจรับประกันภัยในอดีตที่ยังมีผลขาดทุนจะทยอยครบกำหนดในช่วงปี 2563-2564 และความเสี่ยงต่อรายได้ของบริษัทจะถูกบรรเทาลงจากปริมาณธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันภัยด้านสุขภาพที่มีสัดส่วนจำกัดที่ประมาณ 20% ของเบี้ยประกันภัยรับสุทธิ