JWD ธุรกิจคลังห้องเย็นหนุน!

มีการวิเคราะห์กันว่า จากผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลับทำให้เกิดผลบวกต่อ JWD  ด้วยผลบวกจากธุรกิจคลังห้องเย็น (18% จากรายได้รวม)


คุณค่าบริษัท

มีการวิเคราะห์กันว่า จากผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลับทำให้เกิดผลบวกต่อ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD  ด้วยผลบวกจากธุรกิจคลังห้องเย็น (18% จากรายได้รวม) โดยลูกค้าเข้ามาใช้งานมากขึ้น เนื่องจากมีความกังวลด้านการขนส่ง ทำให้ใช้คลังห้องเย็นของบริษัทเพิ่มขึ้น

โดย JWD เป็นศูนย์กระจายสินค้า และคาดว่าลูกค้าจะยังคงใช้งานอย่างต่อเนื่องในอนาคต รวมถึงมีลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้นักวิเคราะห์ประเมิน occupancy rate ปีนี้จะอยู่ที่ 85% จากปีก่อนเฉลี่ยที่ 79% ขณะที่ธุรกิจอื่นและธุรกิจในต่างประเทศคาดว่าจะยังเป็นไปตามที่ประเมินไว้

นอกจากนี้ประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 1/2563 ที่ 94 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่จะลดลง 21% จากไตรมาสก่อนหน้า

สำหรับคาดกำไรสุทธิเติบโตจากงวดเดียวกันของปีก่อน จาก 1) ธุรกิจคลังห้องเย็นที่มี capacity ใหม่เพิ่มขึ้น (คลังห้องเย็นอาคาร 8 ที่เปิดให้บริการไตรมาส 3/2562) ประกอบกับ occupancy rate ยังสูงเกิน 85% เพิ่มจากไตรมาส 1/2562 ที่ 78% จากลูกค้าเดิมที่มีการสต๊อกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอาหารทะเลและไก่ ประกอบกับยังได้ลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 2) ธุรกิจคลังสินค้าทั่วไปและคลังเคมี JCS เป็นผลจากมีลูกค้าทำสัญญาเช่าระยะยาวตั้งแต่ช่วงก่อนเกิด COVID-19 และลูกค้าบางส่วนมีปัญหาการส่งออก ทำให้มีสินค้าในคลังที่สูงขึ้น

ส่วนกำไรสุทธิลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากส่วนแบ่งกำไรเงินลงทุนที่สูงกว่าปกติ โดยในช่วงไตรมาส 4/2562 บริษัทร่วม PPSEZ มีบันทึกกำไรพิเศษจากการขายที่ดิน ซึ่งหากไม่รวมรายการดังกล่าวกำไรจะทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า

ประกอบกับการปรับลดกำไรสุทธิปี 2563 ลงจากเดิม 5% เป็น 340 ล้านบาท ลดลง 6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากผลกระทบ COVID-19 ที่เป็นลบมากกว่าคาดเดิมเล็กน้อย โดยประเมินผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2563 ที่คาดว่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปีจากผลกระทบของ COVID-19 และคาดว่าจะดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2563 โดยในงวดไตรมาส 4/2563 จะมีการเพิ่มจากคลังห้องเย็นใหม่อาคาร 9

ในขณะที่ผลการดำเนินงานงบปี 2562 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 บริษัทมีรายได้รวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 3,660.24 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 3,297.64 ล้านบาท เป็นผลจากรายได้จากการให้เช่าและการให้บริการ, รายได้จากการขาย และรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลเพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขยับขึ้นมาอยู่ที่ 362.79 ล้านบาท หรือ 0.36 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อน 224.52 ล้านบาท หรือ 0.22 บาทต่อหุ้น

เอาเป็นว่าทางด้าน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ยังคงแนะนำ “ซื้อ” แต่ปรับลดราคาเป้าหมายเป็น 7.80 บาท พร้อมการปรับลดกำไรลง โดย key risk จาก COVID-19 ที่จะกระทบกำไรไตรมาส 2/2563  ลดลง แต่ภาพรวมคาดว่าจะกระทบไม่มาก เนื่องจากยังมีบางธุรกิจที่จะได้รับผลบวก ได้แก่ คลังห้องเย็น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากธุรกิจให้บริการรับฝากและบริหารยานยนต์ที่จะได้รับผลกระทบจากยอดผลิตรถยนต์ปีนี้ที่ปรับตัวลดลง

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  1. นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา 213,652,600 หุ้น 20.95%
  2. นางพิมลทิพ บัณฑิตกฤษดา 128,784,180 หุ้น 12.63%
  3. นายจิตชัย นิมิตรปัญญา 96,596,460 หุ้น 9.47%
  4. นางอัจฉรา นิมิตรปัญญา 70,923,660 หุ้น 6.95%
  5. น.ส.อมรพรรณ บัณฑิตกฤษดา 51,653,140 หุ้น 5.06%

รายชื่อกรรมการ

  1. นายมังกร ธนสารศิลป์ ประธานกรรมการบริษัท, กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบ
  2. นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, กรรมการ
  3. น.ส.อมรพรรณ บัณฑิตกฤษดา กรรมการ
  4. นายจิตชัย นิมิตปัญญา กรรมการ
  5. นางอัจฉรา นิมิตปัญญา กรรมการ

Back to top button