พาราสาวะถี อรชุน
ต่อเนื่องจากการตั้งคำถามไว้วันวานว่าด้วยข้อเสนอให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ต้องปฏิรูปอะไรและอะไรคือตัววัดผลว่าปฏิรูปสำเร็จ ล่าสุด อลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสปช.ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว สอดคล้องกับสิ่งที่ตั้งเป็นปุจฉาไว้ รัฐบาลได้ปฏิรูปมาโดยตลอดหลังรัฐประหาร ตั้งแต่การนำประเทศสู่ความสงบสุข
อรชุน
ต่อเนื่องจากการตั้งคำถามไว้วันวานว่าด้วยข้อเสนอให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ต้องปฏิรูปอะไรและอะไรคือตัววัดผลว่าปฏิรูปสำเร็จ ล่าสุด อลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสปช.ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว สอดคล้องกับสิ่งที่ตั้งเป็นปุจฉาไว้ รัฐบาลได้ปฏิรูปมาโดยตลอดหลังรัฐประหาร ตั้งแต่การนำประเทศสู่ความสงบสุข
การบังคับใช้กฎหมายจัดระเบียบบ้านเมือง การปราบทุจริตและธุรกิจมืด การปราบผู้มีอิทธิพล การคืนผืนป่า และอื่นๆอีกมากมาย นั่นเท่ากับว่า รัฐบาลปฏิรูปมาปีกว่าแล้วและมีเวลาอีก 1 ปีที่จะปฏิรูปประเทศก่อนที่จะส่งมอบหน้าที่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งรับผิดชอบต่อตามโรดแมปที่ได้วางไว้ นอกจากนั้น ยังมีพิมพ์เขียวปฏิรูปที่สปช.ทำใกล้เสร็จและรัฐธรรมนูญที่ร่างกันอยู่ จะเป็นรากฐานของประชาธิปไตยและการปฏิรูป
แน่นอนว่า ปัญหาที่สะสมหมักหมมมานาน การแก้ไขให้หมดไปภายใต้รัฐบาลเดียวย่อมเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำกันทั้งโลกเช่นนี้ ขอแต่คนอื่นอย่างสร้างปัญหาซ้ำเติมก็พอแล้ว การเดินตามโรดแมปและร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องทั้งในรัฐบาลนี้และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปลายปีหน้าจะดีที่สุดสำหรับประเทศ
ก่อนที่เสี่ยจ้อนจะสรุปตบท้ายว่า ข้อเสนอให้คว่ำรัฐธรรมนูญหรือปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 2 ปี แฝงความพยายามหาทางออกให้ประเทศ แต่เกรงว่าจะก่อวิกฤติความขัดแย้งครั้งใหม่ ดังนั้น การปล่อยให้ประเทศเดินตามโรดแมปจึงเป็นเรื่องที่ดีกว่า พูดออกมาอย่างนี้ ช่างไม่เกรงใจอดีตคนเคยรักจากพรรคประชาธิปัตย์อย่าง ทิดเทพเทือกที่เสนอให้ปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้งอย่างไม่มีกำหนดเวลาเอาเสียเลย
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการขยับของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ว่าด้วยข้อเสนอชงคำถามปฏิรูป 2 ปีก่อนเลือกตั้งควบคู่ไปกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จะได้รับเสียงสนับสนุนจากผลโพลล่าสุดทั้งจากนิด้าและสวนดุสิต แต่ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ว่า กลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นเป็นเสียงส่วนใหญ่ของทั้งประเทศหรือไม่ จุดใหญ่ใจความมันขึ้นอยู่กับว่า สมาชิกสปช.ทั้งหลายจะเอาด้วยหรือไม่ต่างหาก
เพราะเวลานี้อย่างที่เห็นมีข้อเสนอจากสมาชิกสปช.หลักๆอยู่ 2 ประการคือ คว่ำร่างรัฐธรรมนูญกับรับร่างรัฐธรรมนูญก่อนนำไปสู่การทำประชามติ ซึ่งหากข้อมูลเป็นไปตามที่สมาชิกสปช.บางคนกล่าวอ้างว่า มีการล่ารายชื่อสมาชิกเพื่อให้สนับสนุนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแลกกับการได้กลับเข้าไปดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
เค้กก้อนนี้ที่มีอยู่ 200 ชิ้นมันหอมหวนเสียเหลือเกิน ถ้าย้อนกลับไปในการเปิดเวทีเปิดใจของบรรดาสมาชิกสปช.ก็จะพบคำเตือนของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรองประธานสปช.ถึงกรณีเก้าอี้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ก็เป็นอะไรที่น่าหวาดเสียวอยู่ไม่น้อย เพราะคนที่มีตำแหน่งแห่งหนจากการลากตั้ง ย่อมแสวงหาทุกหนทางในการที่จะนำมาตัวเองไปมีตำแหน่งแห่งหนโดยไม่ต้องผ่านการเลือกของประชาชน
คนเหล่านี้ ไม่ได้ขีดวงอยู่เฉพาะในส่วนที่เป็นสมาชิกสปช. หากแต่กรณีที่มีข่าวลือเรื่องคสช.กดดันคณะกรรมาธิการยกร่างให้กำหนดที่มาของส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมดก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย หากมองในภาพใหญ่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับระดับนำในคสช. เพราะในการเสนอความเห็นของแม่น้ำ 4 สายที่เข้ามายังคณะกรรมาธิการยกร่างนั้นคสช.ไม่ได้ร่วมเสนอด้วย
มีเพียงครม.ซึ่งก็มีบรรดาแกนนำคสช.ทั้งหมดร่วมบริหารงานอยู่เป็นผู้เสนอความเห็นเท่านั้น โดยมีการเสนอให้ส.ว.มาจากทั้งการเลือกตั้งและสรรหา เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงมีแหล่งข่าวจากกรรมาธิการยกร่างฯระบุว่า ท้ายที่สุดกลุ่มคนที่มาเคลื่อนไหวกดดันนั้น มีวาระแอบแฝงคือ เกรงว่าตัวเองจะได้ไม่รับเลือกให้เป็นส.ว.ด้วย หากใช้รูปแบบตามที่มีการกำหนดไว้ก่อนหน้านี้
น่าจะเป็นเหตุผลที่พอฟังได้ เพราะหากจำแนกแยกแยะที่มาของส.ว.ตามข้อสรุปเดิมของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จำนวน 200 คนนั้น กรณีที่มาจากการสรรหา 4 รูปแบบถูกแบ่งซอยย่อย จนคนมีสีหรือคนที่อยากจะได้รับการสรรหาไม่รู้ว่าจะเข้ามาโดยวิธีใด อย่างกลุ่มแรกอดีตข้าราชการพลเรือนและทหาร มีโควตา 10 ที่นั่ง ซึ่งลำพังแค่ระดับอดีตปลัดก็น่าจะเบียดกันเต็มที่แล้ว
ขณะที่กลุ่มที่ 2 แทบจะไม่มีหนทางเข้าไปข้องแวะเพราะเป็นกลุ่มองค์กรวิชาชีพหรือสภาวิชาชีพจำนวน 21 องค์กรที่จะให้กกต.จับสลากให้เหลือ 15 คน ส่วนกลุ่มที่ 3 ผู้ทรงคุณวุฒิและทรงคุณธรรมก็จะเลือกกันจำนวน 68 คน โดยที่กลุ่มสุดท้ายเป็นผู้แทนองค์กรซึ่งเป็นนิติบุคคล จาก 6 ด้านจำนวน 30 คนได้แก่ ด้านเกษตรกรรม แรงงาน วิชาการและศึกษา ชุมชมและด้านท้องถิ่น
เรียกได้ว่าหากปล่อยให้ที่มาของส.ว.เป็นเช่นนี้ กลุ่มคนที่หวังจะได้รับการลากตั้งคงหมดโอกาสไปในทันที ดังนั้น จึงเกิดการล็อบบี้ที่แปรสภาพว่าเป็นความกดดันไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างฯ หากคสช.ไม่ได้เกี่ยวข้องจริง เป็นสิ่งที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องออกมาปฏิเสธพร้อมๆกับยืนยันแนวทางที่ครม.ได้เสนอไปคือให้มีทั้งการเลือกตั้งและสรรหา
ที่ร้อนไม่แพ้กันน่าจะเป็นการแต่งตั้งในส่วนของเก้าอี้ผู้บัญชาการกองทัพบกและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งๆที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันเพราะกระบวนการเลือกไม่เหมือนกัน แต่เบื้องหลังของคนที่จะได้รับเลือกนั้น ว่ากันว่า ถ้าผลออกมาตามโผที่ปรากฏเป็นข่าว เท่ากับว่าพี่ใหญ่กับน้องเล็กแห่งบูรพาพยัคฆ์ยอมพบกันครึ่งทาง
เนื่องจากในตำแหน่งผบ.ทบ.นั้น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ผลักดัน “บิ๊กหมู”พลเอกธีรชัย นาควานิช อย่างเต็มที่ โดยยึดหลักอาวุโส ขณะที่บิ๊กตู่ก็ต้องการจะดันน้องในไส้”บิ๊กติ๊ก”พลเอกปรีชา จันทร์โอชา ขึ้นชั้นมาช่วยค้ำบัลลังก์อำนาจ เป็นเหตุให้คนตีความคำพูดของ พลเอกอุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ.คนปัจจุบันที่บอกว่า ไม่ยึดหลักอาวุโส น่าจะเป็นการส่งสัญญาณบางอย่าง
หากว่าเก้าอี้ผบ.ทบ.ตกเป็นของบิ๊กติ๊กจริง จะมีผลต่อตำแหน่งผบ.ตร.คนใหม่ไปด้วยเช่นกัน เพราะฝั่งบิ๊กตู่ผลักดัน พลตำรวจเอกเอก อังสนานนท์ รองผบ.ตร.อาวุโสอันดับหนึ่งอย่างเต็มที่ ขณะที่บิ๊กป้อมก็หนุน พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา รองผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 4 อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู เมื่อพี่ใหญ่ยอมถอยในตำแหน่งผบ.ทบ.แล้ว น้องเล็กก็จำเป็นต้องยอมในเก้าอี้ผบ.ตร.เช่นกัน
ถือเป็นสิ่งที่ต้องจำตากันเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหวยล็อกเป็นไปตามสูตรนี้แสดงว่าวิน-วินทั้งคู่ แต่หากตกลงกันไม่ได้ สุดท้ายพุงปลาอาจจะตกไปในมือของตาอยู่ แต่ดูจากรายชื่อแคนดิเดตที่จะแย่งชิงแล้ว มองไม่เห็นว่าจะมีใครเบียดแทรกได้ อย่างไรก็ดี ในการเปิดบ้านรับคำอวยพรวันเกิดปีที่ 70 ของบิ๊กป้อมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาที่ร.1รอ. น่าจะพอมองออกแล้วว่า ใครที่จะเป็นผู้สมหวัง