วิชามาร 4 ประการพลวัต2015

วิชามาร 4 ประการข้างต้น จะพบว่าถี่ชุกขึ้นอย่างผิดสังเกตในปีนี้ แต่รายไหนที่ทำจะได้ผลมากหรือน้อย ขึ้นกับความสามารถในการสื่อสาร โดยมีนักวิเคราะห์ และ สื่อมวลชน ซึ่งเป็น “กองเชียร์” สำคัญที่ขาดไม่ได้


วิษณุ โชลิตกุล

 

ยามหุ้นขาลง และวอลุ่มตลาดหดหาย อย่างเช่นในปีนี้ เราได้เห็นปรากฏการณ์พิเศษที่โดดเด่น 4  ประการซึ่งไม่ค่อยจะได้เห็นในช่วงตลาดเป็นขาขึ้น ดังนี้

– บริษัทหรือประชาสัมพันธ์บริษัทชอบอ้างตัวเลขกำไรไตรมาสนี้เทียบกับไตรมาสก่อน เพื่อจะอ้างว่ากำไรเพิ่มขึ้น ทั้งที่หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน กำไรลดลงฮวบฮาบ

– การพยายามให้ข่าวเจรจาจะร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่อย่างคุลมเครือ โดยอ้างว่าเป็นดีลประวัติศาสตร์ที่สร้างอนาคตให้กิจการเติบโตมหึมา

– การทำดีลเพิ่มทุนของบริษัทที่มีผลประกอบการย่ำแย่ หรือตกเป็นเหยื่อของการซื้อกิจการ เพื่อขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจงให้กับพันธมิตรใหม่ที่จะเป็นการปรับเปลี่ยนโฉมหน้าของบริษัทเข้าสู่ยุคใหม่ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อบริษัทเพื่อ “ลบประวัติเน่า”ของหุ้นในชื่อเดิมที่มีภาพลักษณ์เน่าเฟะ

– พอร์ตโบรกเกอร์ มีบทบาทซื้อขายหุ้นแบบ “เล่นสั้นขยันซอย” อันเป็นโมเดลธุรกิจใหม่บริษัทหลักทรัพย์ โดยไม่โวยวายเมื่อมูลค่าซื้อขายประจำวันเหือดหายแบบในอดีต

วิชามาร 4 ประการข้างต้น จะพบว่าถี่ชุกขึ้นอย่างผิดสังเกตในปีนี้  แต่รายไหนที่ทำจะได้ผลมากหรือน้อย ขึ้นกับความสามารถในการสื่อสาร โดยมีนักวิเคราะห์ และ สื่อมวลชน ซึ่งเป็น “กองเชียร์”  สำคัญที่ขาดไม่ได้

อย่างแรกสุด เราได้เห็นว่า การเลือกช่วงเวลาในการรายงานเงื่อนเวลาเพื่อเปรียบเทียบ สามารถก่อให้เกิดความหลงผิดได้ง่ายมาก เพราะการเทียบช่วงเวลาระยะเดียวกันของปีที่ต่างกัน จะชัดเจนมากกว่าเพราะระยะเวลาที่ห่างกันพอสมควร ชี้ให้เห็นว่าปีนี้ผู้บริหารแสดงฝีมือดีขึ้นหรือเลวลง

ในอดีต เราได้เห็นผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ และนักวิเคราะห์หุ้นกลุ่มธนาคารหรือสถาบันการเงิน  ชอบใช้คำว่า QoQ (ไตรมาล่าสุดนี้เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า)และ YoY (ไตรมาสล่าสุดนี้เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน) จนค่อนข้างคุ้นเคย แต่ปัจจุบัน ผู้บริหารบริษัทและประชาสัมพันธ์ เริ่มใช้วิชามารตรงนี้เพื่อชักนำให้นักลงทุนหลงทางเกร่อขึ้น

การเทียบไตรมาสนี้กับไตรมาสก่อนหน้า ผู้บริหารหรือประชาสัมพันธ์บริษัท มักจะเลือกเอาช่วงเวลาที่ไตรมาสก่อนหน้าบริษัทมีผลประกอบการเลวร้าย เพื่อจะชี้ว่าธุรกิจกำลังฟื้นตัวมาก หรือ เทิร์นอะราวด์ ทั้งที่หากรวมเอา 2 ไตรมาสติดต่อกันมารวม จะพบว่า มีตัวเลขผลแประกอบการ 6 เดือนนี้ ลดลงกว่าระยะเดียวกันปีก่อน

ที่ร้ายยิ่งขึ้น ผู้บริหารบางบริษัท เลือกที่จะพูดหรืออ้างอิงตัวเลข กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าจัดจำหน่าย หรือ EBITDA มากกว่ากำไรสุทธิ เพื่อหลบเลี่ยงพูดถึงกำไรสุทธิที่ตกต่ำลงหรือถดถอย แม้จะไม่ถึงกับบิดเบือนหรือแต่งตัวเลข แต่เป็นการเอาตัวเลขมาเล่นเกมชี้นำให้หลงทาง เมื่อเชื่อมโยงกับราคาหุ้น 

นักลงทุนที่มีประสบการณ์ ต้องตระหนักถึงคำเตือนเก่าแก่ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ที่ว่า “EBITDA เป็นตัวเลขที่นักวิเคราะห์กล่าวอ้างเท่านั้น ไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลยW แม้จะมีบางคนโต้แย้งว่า คำพูดทำให้คนเข้าใจบัฟเฟตต์ผิดๆ

เรื่องที่สอง การสร้างสตอรี่สวยหรูว่า กำลังอยู่ในช่วงเจรจาจะจับมือกับบริษัทต่างชาติที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับภูมิภาคหรือระดับโลกอย่างคลุมเครือ โดยอ้างว่าเป็นดีลประวัติศาสตร์ที่สร้างอนาคตให้กิจการเติบโตมหึมา แต่เอาเข้าจริงก็เป็นแค่การเริ่มต้นตั้งกิจการศึกษาความเป็นไปได้ หรือ การตั้งกิจการร่วมทุน เพื่อหาทางขอใบอนุญาตตั้งธุรกิจใหม่ ซึ่งกินเวลายาวนานมากกว่าจะเกิดผลตอบแทน ซึ่งอาจจะไม่ได้เกิดอะไรขึ้นเลยได้ เพราะหวังดันแค่ราคาหุ้นเท่านั้น

บริษัทที่ขาย “วิมานเมฆ” เช่นนี้ ราคาหุ้นจะหวือหวาชั่วคราว แล้วอีกไม่นาน จะเงียบไป พร้อมกับออกมาข่าวสั้นๆ ว่า การเจรจาในรายละเอียดไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ จบข่าวลงพร้อมราคาหุ้นที่ร่วงมาที่จุดเดิม

เรื่องที่สาม  กลุ่มคนหนุ่มฐานะครอบครัวดี ที่ร้อนวิชา จบการศึกษาด้านการเงินจากต่างประเทศ เอาเงินของครอบครัวมาลงทุนซื้อกิจการที่ย่ำแย่ในตลาด โดยหวังใช้วิศวกรรมการเงิน เข้าทำกำไรในเวลาไม่นาน จากราคาหุ้น ด้วยวิธีการใดๆ เพื่อเข้าสู่การครอบงำการบริหารบริษัทมหาชนจดทะเบียน โดยทำตามสูตรง่ายคือ เพิ่มทุนเพื่อสร้างสตอรี่ ถอนทุน อ้างว่าเพื่อปรับโมเดลธุรกิจใหม่จากธุรกิจเดิมที่ย่ำแย่ มาเป็นบริษัทแห่งอนาคต

 เพื่อให้สมเหตุผล จึงมีการแก้ไขเปลี่ยนชื่อกิจการเพื่อลบภาพลักษณ์ให้เหมาะจะเป็นธุรกิจข้ามประเทศ หรือ ธุรกิจที่ทันสมัย โดยการเพิ่มทุนจะมีทั้งขายหุ้นให้ผู้ถือหุ้นเดิมบางส่วน ขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจงให้กับพันธมิตรใหม่

การกระทำดังกล่าว บางครั้งซ่อนรอยเอาไว้แนบเนียน เสมือนอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่แค่การเล่นเกมราคาหุ้น โดยยากที่จะมีคนใครรู้ล่วงหน้าว่า แท้จริงแล้วคือการเล่นเกม “ซ่อนหาทางการเงิน” มากน้อยแค่ไหน กว่าจะพิสูจน์ได้นักลงทุนจำนวนมากก็เสียค่าโง่ราคาแพงไปแล้ว

เรื่องสุดท้าย ถือเป็นพัฒนาการน่าสนใจ เพราะผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ได้พบว่า ตนเองสามารถทำกำไรได้โดยไม่ต้องพึ่งพาธุรกรรมค่าธรรมเนียมการเป็นนายหน้าของลูกค้าเหมือนในอดีต แต่สามารถทำกำไรง่ายๆ จากพอร์ตเทรดหุ้นของตนเองที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการซื้อขาย มีต้นทุนต่ำกว่าลูกค้าเสมอ

ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์บางราย ยังพบว่า การเชื่อมโยงธุรกรรมที่ปรึกษาการเงิน พาบริษัทแต่งตัวเข้าตลาด แล้วสมคบคิดกับนักลงทุนระดับ “ขาใหญ่” ใต้สังกัด สามารถสร้างกำไรระยะสั้นให้กับลูกค้าขาประจำและของพอร์ตตนเองได้ง่ายและมากกว่า โดยไม่ต้องลงทุนให้บริการลูกค้ารายย่อยมากมาย

วิชามารนี้ ถามว่า ทำให้ตลาดเสียหายมากมายแค่ไหน ยังไม่ชัดเจน แต่ขึ้นกับมุมมอง เพราะหากจะมองว่า การที่คนบางกลุ่มทำกำไรงดงามจากมูลค่าซื้อขายหุ้นประจำวันที่หดหายไปต่ำกว่า 3.5 หมื่นล้านบาทต่อวัน ไม่ถือว่าเสียหาย ก็คงไม่มีใครคิดจะแก้ปัญหา แต่หากคิดว่าเป็นปัญหา ก็คงจะมีคนลุกขึ้นมาหาทางแก้

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยามตลาดขาลงนี้ นักลงทุนรายย่อยที่ไม่คิดจะร้องแรกแหกกระเชอกับใครๆ คงต้องทบทวนกันว่า จะล้างพอร์ตถอนตัว หรือปล่อยให้ตนเองตกเป็นเหยื่อของวิชามารไปเรื่อยๆ พร้อมกับพอร์ตลงทุนส่วนตัวที่ค่อยๆเหือดแห้งลงต่อเนื่อง

Back to top button