“สธ.” ยัน “แล็บ รพ.ยะลา” ได้มาตรฐาน เร่งเช็กสาเหตุตรวจเชื้อ “โควิด” คลาดเคลื่อน
"กระทรวงสาธารณสุข" ยัน "แล็บ รพ.ยะลา" ได้มาตรฐาน ส่งผู้เชี่ยวชาญเร่งเช็กสาเหตุตรวจเชื้อ "โควิด" คลาดเคลื่อน
หลังจากที่เกิดกรณีห้องแล็บของโรงพยาบาลยะลาตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากถึง 40 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมนุม แต่เมื่อมีการตรวจซ้ำแล้วไม่พบการติดเชื้อ ล่าสุดทางด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมายืนยันว่า กระบวนการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ของประเทศไทยเป็นไปตามมาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม ผลตรวจที่ออกมาสามารถเกิดความผิดพลาดได้จาก 3 สาเหตุคือ ความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ ความผิดพลาดที่เกิดจากเครื่องมือ และความผิดพลาดที่เกิดจากระบบ ซึ่งจะมีระบบสอบทานหากพบความผิดปกติ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการควบคุมโรคที่สามารถดำเนินการไปได้ อีกทั้งเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้
“แล็บของโรงพยาบาลยะลาผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ที่ผ่านมาได้ให้บริการไปแล้วกว่า 4 พันตัวอย่าง…ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อพบความผิดปกติก็ได้ทำการตรวจสอบซ้ำ ให้ได้ผลแม่นยำที่สุด…ช่วงตอนต้นก็มีบางครั้งที่แล็บของโรงพยาบาลจุฬากับกรมวิยาศาสตร์การแพทย์ออกมาไม่ตรงกัน” นพ.โอภาส กล่าว
ทั้งนี้ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้คณะผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เดินทางลงพื้นที่ไปสนับสนุนว่าเกิดความผิดปกติได้อย่างไร เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
โดยปัจจุบันมีการขยายงานตรวจหาเชื้อด้วยระบบ RTCPR ไปยังเครือข่าย 151 แห่งทั้งภาครัฐและเอกชน จากเดิมที่มีเฉพาะห้องแล็บของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาห้องแล็บทั่วประเทศสามารถตรวจหาเชื้อไปแล้วกว่า 2.2 แสนตัวอย่าง ล่าสุดห้องแล็บทั้งหมดสามารถตรวจหาเชื้อได้สัปดาห์ละ 6 พันราย เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้อีกเท่าตัว
ด้าน นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคล่าสุดดีขึ้นเรื่อยๆ เรียกได้เข้าสู่ช่วงที่จะไม่พบผู้ป่วยแล้ว แต่มีข้อกังวลกรณีมีประชาชนเดินทางออกต่างจังหวัด การเดินทางข้ามจังหวัด หรือการแย่งซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงขอให้ประชาชนทุกคนดูแลรักษาสุขอนามัยของตัวเองอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดรอบสองเหมือนในต่างประเทศ