“คมนาคม” ปรับแผนขนส่งสาธารณะ “รถไฟฟ้า-รถเมล์-เรือ” กำชับเข้มเว้นระยะห่าง ป้องกัน “โควิด”
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการเดินท …
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการเดินทางในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ในวันที่ 5 พ.ค.หลังจากรัฐบาลได้มีการผ่อนคลายกิจกรรมมากขึ้น ทำให้ประชาชนเดินทางมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่ามีประชาชนใช้รถไฟฟ้าเดินทางอย่างหนาแน่นแออัด ประกอบกับเกิดการขัดข้องระบบ ทำให้ขบวนรถไม่สามารถเดินรถได้ 3-4 ขบวน ทำให้การจัดการคนเข้ามาสถานีก็ทำได้ยากมาก ซึ่งถือเป็นบทเรียนสำคัญ
อย่างไรก็ตามได้มอบหมายหน่วยงานให้ซักซ้อมการปฏิบัติ เน้นให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคมในการใช้รถไฟฟ้า ซึ่งได้มีการฝึกซ้อม ที่จะทำอย่างไรให้ผู้โดยสารมั่นใจไม่ติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นเมื่อวาน (7 พ.ค.63) และวันนี้ (8 พ.ค.) จึงมีการจัดการดีขึ้นมาก ส่วนหนึ่งประชาชนปฏิบัติตามข้อแนะนำ และเดินทางด้วยความปลอดภัย
ขณะที่มีบางส่วน ร้องเรียนว่าต้องใช้เวลาในการเดินทางนาน ซึ่งก็ยอมรับว่ารถไฟฟ้าขนคน 1,000 -1,100 คน/ขบวน แต่จากสถานการณ์นี้ก็ไม่สามารถทำได้ ดังนั้น ขบวนหนึ่งขนคนได้เพียง 250 คน หรือลดลง 1 ใน 4 ที่จำเป็นต้องลดความเสี่ยงจากการผู้ใช้รถไฟฟ้า
นอกจากนี้ ได้มีมาตรการอื่นรองรับ ได้แก่ ให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้ระบบรถไฟฟ้า และมีการคัดกรองวัดอุณหภูมิ ทั้งก่อนขึ้นรถ ส่วนในการเดินทางรถเมล์ ซึ่งกทม.ยังมีการให้บริการมาก ก็มีเรื่องแออัดมาก ก็ต้องมีการเว้นระยะห่าง และสวมหน้ากาก รวมทั้งวัดอุณหภูมิ เช่นเดียวกันกับการใช้เรือโดยสารในการเดินทาง
ส่วนการเดินทางทางอากาศ ในเดือนพ.ค. มี 5 สายการบินกลับมาให้บริการ กระทรวงคมนาคมเปิดใช้ท่าอากาศยานทั้งสิ้น 18 แห่ง รวมสุวรรณภูมิ และ ดอนเมือง ทั้งหมดเป็นการเดินทางเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น ส่วนการเดินทางระหว่างประเทศก็ยังอยู่ในควบคุมของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งทั้ง 18 ท่าอากาศยานเปิดให้บริการ 7.00 -19.00 น. เนื่องจากมีเวลาควบคุม หรือเคอร์ฟิว เพื่อป้องกันให้ผู้โดยสารเมื่อเดินทางถึงปลายทางก็ต้องเดินทางต่อไปที่พักอาศัย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เน้นย้ำคือความห่วงใยผู้โดยสารที่เดินทางไม่ว่าทางไหน ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดข้อปฏิบัติสำหรับผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ ได้แก่ หากมีไข้ควรงดการเดินทาง การคัดกรองอุณหภูมิ ในยานพาหนะมีการทำความสะอาดสม่ำเสมอ รวมถึงพื้นที่ให้บริการ ตลอดจนพนักงานขับรถ พนักงานขายตั๋ว ให้ดูแลสุขภาพอย่างดี การเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่ว่าจะขึ้นรถไฟฟ้า รถเมล์ เรือ ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการนี้ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง โดยให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดที่ใช้ขนส่งสาธารณะ
แต่หากจะเดินทางข้ามจังหวัดต้องศึกษาว่า จังหวัดที่ต้องการเดินทาง ทางผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดอย่างไร เช่นต้องมีเอกสารรับรองปลอดจากเชื้อ โควิด-19 บางจังหวัดต้องกักตัว 14 วัน เมื่อเดินทางถึงปลายทางจะได้ไม่มีปัญหา
“ตอนนี้มีการปรับขบวนรถให้มีการวิ่งให้มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เพิ่มความถี่มาก เพราะต้องเว้นระยะการให้บริการ อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 3 นาที ถ้าลดมากกว่านี้อาจจะเกิดความไม่ปลอดภัยในการให้บริการ ปัจจุบัน เราใช้ 3 นาที และให้เดินรถเช้าเย็น ปรับขบวนรถให้วิ่งให้ถี่ใน 3 นาที แต่ที่สำคัญแม้จะปรับขบวนรถ แต่ก็มีจำนวนผู้โดยสารรอเข้าใช้บริการ จึงต้องจัดการใช้บริการ ก่อนเข้าสถานี ก่อนเข้าขบวนรถ ซึ่งเป็นการให้บริการในสถานการณ์ไม่ปกติ หากมีการบริการไม่เพียงพอก็จะเพิ่มเสริมเข้ามา” น่ยชัยวัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ การทำงานที่บ้าน (Work from Home) จะช่วยลดการเดินทาง หรือปรับเวลาการทำงานเป็น 3 ช่วง เหลื่อมเวลา ช่วง 7.00, 8.00, 9.00 น. จะช่วยกระจายการเดินทาง เป็นการช่วยลดความหนาแน่นการเดินทางในช่วงเร่งด่วน