ที่ปรึกษา ศบค. คาด “โควิด” อยู่ยาวถึงสิ้นปี 64 แนะเดินสายกลาง คลายล็อกดาวน์ ควบคู่ป้องกัน

ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม ศบค. คาด "โควิด" อยู่ยาวถึงสิ้นปี 64 แนะเดินสายกลาง คลายล็อกดาวน์ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่มาตรการป้องกันการแพร่ระบาด เข้มข้น


นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวภายหลังประชุมนัดแรกว่า ในขณะนี้รัฐบาลกำลังเข้าสู่ระยะผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะกลับมาระบาดในระยะที่ 2 ได้ เพราะฉะนั้นการ์ดห้ามตกโดยเด็ดขาดด เพราะหากเกิดเหตุการณ์ Super Spreader ซึ่งมีตัวอย่างเช่นในประเทศสิงค์โปร์แล้วควบคุมไม่ได้จะส่งผลเสียทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

ดังนั้น สิ่งสำคัญจำเป็นต้องเดินทางสายกลาง คือ ยังต้องดูแลด้านสุขภาพ ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาเศรษฐกิจก็ละเลยไม่ได้ ซึ่งมาตรการรัฐที่ออกมาต้องเป็นขั้นเป็นตอน ต้องช่วยสนับสนุนให้กลไกเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ทั้งภาคธุรกิจและภาคบริการ และหากทุกอย่างไปในทิศทางที่ดีก็สามารถผ่อนปรนได้มากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับกรณีเตรียมเปิดห้างสรรพสินค้าในวันที่ 17 พ.ค.นี้ นพ.จรัส มองว่า ต้องมีการกำหนดมาตรการที่ชัดเจนที่เป็นข้อปฏิบัติ และสิ่งสำคัญต้องได้รับความมือจากจากประชาชนในการดูแลสุขภาพ หากได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีก็สามารถเปิดได้ และจำเป็นต้องติดตามว่าจากการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ จนถึงวันที่ 17 พ.ค.จำนวนผู้ติดเชื้อเป็นอย่างไร เพื่อนำมาประเมินว่าควรจะผ่อนปรนเพิ่มเติมอีกหรือไม่

“ทั้งหมดนี้ยังอยู่ในสภาพที่ต้องช่วยกันระมัดระวัง ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่า มาตรการที่ใช้ได้ผลดี แต่ว่ามาตรการนั้นปิดเต็มที่ ทำให้กระบวนการด้านเศรษฐกิจอื่นของแต่ละบุคคลก็ดี ของประเทศก็ดีต้องหยุดไป ซึ่งหยุดต่อไปอีกนานไม่ได้ ก็ต้องหาจุดที่พอเหมาะ” นพ.จรัส กล่าว

นพ.จรัส กล่าวอีกว่า ในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนรักษาโรค แต่มีการศึกษาวัคซีน 70-80 โครงการจากทั่วโลก แต่หากจะเห็นผลยังใช้เวลาอีกนาน ซึ่งคาดว่ากว่าจะผลิตวัคซีนได้น่าจะเป็นช่วงเดือน มิ.ย.64 หรืออาจจะไปถึงสิ้นปี 64 จึงยังต้องเผชิญกับโรคโควิด-19 ไปถึงสิ้นปี 64 ดังนั้น การกำหนดมาตรการในช่วงที่ยังมีการระบาดต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ และต้องมองไปถึงว่า หากโรคโควิดหายไปแล้วจำเป็นต้องกำหนดมาตรการใดบ้าง

  “คณะที่ปรึกษาพยายามดูว่าคำตอบที่เกิดขึ้น คำตอบใหญ่หลังจากเลิกโควิดไปแล้ว ประเทศเราควรเป็นอย่างไร ที่เขาเรียกว่า New Normal เป็นอย่างไร มันคงไม่กลับไปเป็นแบบปี 61,62 แต่ระยะอีก 1 ปีครึ่งข้างหน้าต้องทำอย่างไร ซึ่งมีทั้งคำตอบใหญ่และคำตอบเล็ก ซึ่งคำตอบเล็กบางคำตอบออกได้เลย คณะที่ปรึกษาฯ จึงเห็นว่า เราน่าจะมีข้อเสนอแนะภายใน 1-3 เดือนข้างหน้าไปก่อนให้ใช้ประโยชน์ได้ แต่คำตอบที่ต้องใช้ใน 2 ปีนี้เป็นเรื่องใหญ่” นพ.จรัส ระบุ

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ จะเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลทุกด้านเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งในวันจันทร์หน้าจะเชิญนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ มาให้ข้อมูลด้านดิจิทัลต่อไป

Back to top button