“ศิริราช” วิจัย “ยาคลอโรควิน” ป้องกัน “โควิด” ลุ้นทดลองอาสาสมัคร 400 คน คาด 1 เดือนรู้ผล!
ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เดินหน้าวิจัย "ยาคลอโรควิน" ป้องกัน "โควิด" ลุ้นทดลองอาสาสมัคร 400 คน คาด 1 เดือนรู้ผล!
ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล หรือ SICRES (Siriraj Institute of Clinical Research) เดินหน้าวิจัยยาคลอโรควิน (chlorquine) ซึ่งเป็นยารักษามาลาเรีย และเป็นหนึ่งในตัวยาที่ถูกนำมาปรับใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 ภายหลังจากที่พบหลักฐานว่า ยาคลอโรควินสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสได้ และมีการศึกษาเบื้องต้นยืนยันประสิทธิภาพในมนุษย์
โดยล่าสุด ศูนย์วิจัยคลินิกศิริราช ได้จัดตั้งโครงการวางแผนวิจัย เพื่อนำยาคลอโรควินมาทดลองในมนุษย์ และขณะนี้ได้เปิดรับอาสาสมัคร ซึ่งเป็นผู้อาศัยร่วมบ้านกับผู้ป่วยโควิดแล้ว จำนวน 400 คน คาดว่า จะใช้เวลา 1 เดือน
ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก หรือ SICRES กล่าวว่า จากการวิจัยเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่พบว่าการติดเชื้อประมาณ 70-80% เกิดจากการติดต่อกันในครอบครัว เมื่อมีสมาชิกในครอบครัวป่วยหนึ่งคน โอกาสเสี่ยงของสมาชิกคนอื่นๆ จะมีสูงมากที่จะติดโควิด ทั้งแบบที่แสดงอาการหรือไม่ก็ได้
ดังนั้น เพื่อป้องกันสมาชิกในบ้านไม่ให้ติดเชื้อเพิ่มเติม และไม่ไปแพร่เชื้อต่อ จึงเกิดการค้นคว้าเอายาต้านเชื้อโควิด มาป้องกันผู้ที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ซึ่งมีหลักฐานว่า ยาคลอโรควิน (chloroquine) ซึ่งเป็นยารักษามาลาเรียมากว่า 70 ปีที่พบว่ามีความปลอดภัยสูง กลายเป็นหนึ่งในตัวยาแห่งความหวังที่นำมาปรับใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 หลังจากมีการศึกษาในหลอดทดลองแล้วพบว่า สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสได้ และมีการศึกษาเบื้องต้นยืนยันประสิทธิภาพในคน แต่ประสิทธิผลที่แน่ชัดในคนกำลังมีการศึกษาอยู่
โดยทันทีที่ทราบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 1 ราย เราจะรีบไปเชิญสมาชิกในบ้านที่ยังไม่ป่วยให้มาเข้าร่วมการศึกษาก่อนที่จะป่วยตามไปก่อน โดยจะให้สมาชิกร่วมบ้านกับผู้ป่วยกินยาคลอโรควิน 2 ครั้ง ครั้งละ 1,000 มิลลิกรัม ครั้งแรกคือทันทีที่รู้ว่ามีคนในบ้านป่วยเป็นโควิด-19 หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ให้กินครั้งที่สอง
หากการศึกษานี้ได้ผลดีตามที่คาด จะเป็นการป้องกันการแพร่ของเชื้อที่ได้ผลมาก เพราะการแพร่เชื้อในบ้านจุดที่ทำให้เกิดการกระจายเชื้อสู่ชุมชนเป็นวงที่กว้างขึ้น เด็กๆที่ติดเชื้อจากที่บ้าน ก็อาจเอาไปแพร่ต่อในโรงเรียน การป้องกันการแพร่เชื้อในบ้านที่ได้ผลดี จึงเป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดที่ได้ผลดี ผู้ป่วยเองก็ไม่ต้องกังวลว่า คนที่รักที่บ้านจะป่วยตามเพราะสามารถกินยาป้องกันได้
“การศึกษานี้ถ้าได้ผลดี ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์แต่มวลมนุษยชาติยังได้ประโยชน์จากการศึกษานี้ด้วย ประชาชนเข้าถึงยาได้ในราคาถูก และปลอดภัย สำหรับระยะเวลาในการศึกษาขึ้นอยู่กับว่าเราจะมีจำนวนอาสาสมัครที่จะเข้าร่วมโครงการศึกษานี้ได้เร็วเพียงใด หากมีอาสาสมัครครบ 400 คนแล้ว คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือน” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก กล่าว
ทั้งนี้ ศ.พญ.กุลกัญญา ระบุเพิ่มเติมว่า การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในประเทศไทยมีสถิติดีขึ้น มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ลดลงมาก ทำให้ระยะเวลาการศึกษากับกลุ่มอาสาสมัครในเมืองไทยอาจยาวนานกว่าที่คาดการณ์ แต่ถ้ามีการระบาดระลอกที่สอง เราก็อยากจะได้คำตอบรอไว้ใช้งานเลย